ส้มหล่น! 3 หุ้น รับอานิสงส์วิกฤติ “อาหารโลก” ขาดแคลน ดันออเดอร์ส่งออกพุ่ง
ส้มหล่น 3 หุ้น ASIAN-RBF-CPF รับอานิสงส์สถานการณ์วิกฤติ “อาหารโลก” ขาดแคลน หนุนความต้องการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้น
ช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาราคาข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคแพงขึ้น ซึ่งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาอาหาร ปรับตัวขึ้นมาจาก 1. ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 2. การแพร่ระบาดโควิด-19 และ 3. สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนอาหารที่เป็นปัจจัยผลักให้ประชากร โดยในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศมีทยอยห้ามส่งออกอาหารและวัตถุดิบบางประเภทแล้ว
ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ (18 มิ.ย.2565) ประเมินว่าประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากความต้องการส่งออกอาหารที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติอาหารโลก โดย 3 หุ้นคาดว่าจะสามารถที่ป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกได้ ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN โดยคาดว่ายอดขายไตรมาส 2/2565 จะทรงตัวเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน จากผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง
ขณะที่แนวโน้มดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้จากส่วนแบ่งเต็มไตรมาสของกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงใหม่ในไตรมาส 3/2565 และคงแผนจดทะเบียนบริษัทลูกในเดือนต.ค.2565 จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น ASIAN ราคาเป้าหมาย 19.80 บาท
รวมทั้งบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF โดยบล.กสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางของ RBF ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ CBD จะได้รับผลกระทบจากอุปสรรคต่างๆ แต่คาดว่าตลาดจะเติบโตมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาที่เพิ่มขึ้น 5-10% จะช่วยหักลบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นบางส่วน และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีตต่อ RBF จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น RBF ราคาเป้าหมาย 20.95 บาท
พร้อมกันนี้แนะนำ “ซื้อ” หุ้นบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ประเมินราคาเป้าหมาย 30.50 บาท โดยคาดกำไรไตรมาสไตรมาส 2/2565 ยังดีต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยราคาสุกรในเวียดนามและจีนปรับตัวขึ้นสูง รวมถึงราคาไก่คาดยังสูง หลังจากจีนเริ่มเปิดเมือง เดือน มิ.ย. คาดจะทรงตัวสูงในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ซึ่งจะชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น