LEO จับมือ Yunnan Tengjun เปิดตัวรถไฟขนส่ง “ผลไม้-สินค้าอีคอมเมิร์ซ” ต.ค.นี้

LEO ลงนามสัญญาร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับรัฐวิสาหกิจจีน “Yunnan Tengjun” พัฒนาระบบบริการรถไฟขนส่งผลไม้-สินค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยและจีน คาดว่าจะสามารถให้บริการเดือนต.ค.65


นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 บริษัทได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ( Strategic Cooperation Agreement ) กับ บริษัท Yunnan Tengjun Multimodal Transport Holding Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน เพื่อพัฒนาระบบบริการรถไฟสำหรับการขนส่งผลไม้และสินค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยและจีน

ทั้งนี้ บริษัท Yunnan Tengjun Multimodal Transport Holding Ltd. เป็นบริษัทโลจิสติกส์ระดับ 5A ของจีน โดยเป็นผู้บริหารจัดการ Gallops International Land Port ซึ่งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ระดับชาติที่ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1,528 ไร่ โดยมีการลงทุนรวม 1,100 ล้านหยวน และเป็นศูนย์การขนส่งทางบกที่เชื่อมต่อเส้นทางมณฑลยูนนาน ที่สามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ในจีน และต่อไปยังทวีปอื่นๆ เช่น ยุโรป เป็นต้น

สำหรับขอบเขตความร่วมมือระหว่างกันนั้น Yunnan Tengjun จะให้บริการพิธีการทางศุลกากรและการกระจายสินค้าภายในประเทศจีน รวมถึงพัฒนาการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง ไทย- จีน ทั้งทางรถไฟ และทางรถบรรทุก เพื่อตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ทั้งแบบธรรมดาและแบบห้องเย็นที่เพิ่มขึ้นจาก LEO ซึ่งในขณะนี้ความร่วมมือดังกล่าว อยู่ในช่วงของการทดสอบระบบและทดลองการให้บริการ คาดว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2565

นอกจากนี้ ทาง Yunnan Tengjun ยังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่จะเข้ามาช่วยจำหน่ายผัก ผลไม้หรือสินค้าที่ส่งมาจากประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนและจัดทำ platform  คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณและขยายตลาดให้กับการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทยและจีน ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

 “ในส่วนของเป้าหมายและประโยชน์ที่ LEO คาดว่าจะได้รับคือ บริษัทจะสามารถสร้างความแตกต่างในตลาดได้เหนือคู่แข่ง  เนื่องจากเราได้ต้นทุนการให้บริการจากพันธมิตรที่สามารถแข่งขันได้ และสามารถให้บริการทั้งนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างครบวงจรทั้งในประเทศไทยและในประเทศจีน  นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกไทยให้สามาถส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตขึ้น  สำหรับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ วางเป้าหมายในส่วนของรายได้ให้เติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านบาท ภายในปี 2566″ นายเกตติวิทย์ กล่าว

Back to top button