เปิดมุมมองแบบ “มหาชน” EA-SABUY-OR หาพันธมิตรขยายธุรกิจ “เมกะเทรนด์”
เปิดมุมมองแบบ "มหาชน" EA-SABUY-OR หาพันธมิตรขยายธุรกิจ "เมกะเทรนด์" ในงานสัมมนา " Battle Strategy IV : STARTUP SME TO MEGATREND" จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดงาน Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE IV: STARTUP SME TO MEGATREND สัมมนาออนไลน์รูปแบบ Virtual LIVE ภายใต้แนวคิด “NEW Fundraising NEW Investing” ทางเลือกการระดมทุนและการลงทุนรูปแบบใหม่ ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวง STARTUP SME และบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2565 ในหัวข้อ ”แข็งแกร่งแบบมหาชน” และ “กำไรกระโดดแบบ Angel Investor” ดังนี้
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยในงานสัมมนา ” Battle Strategy IV : STARTUP SME TO MEGATREND” ในหัวข้อ แข็งแกร่งแบบมหาชน ว่า การเติบโตไปข้างหน้า จะต้องทำธุรกิจที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก และสามารถเพิ่มมูลค่า (value added) ในขณะเดียวกันต้องเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของบริษัทฯ
นอกจากนี้ผู้บริหารจะต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเติบโตต่อไปในอนาคต อีกทั้งต้องกล้าเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มฐานทุน สร้างการเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงยังต้องปรับปรุงตัวเอง เพื่อเริ่มธุรกิจใหม่ๆ หรือเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ อีกทั้งการทำธุรกิจ ไม่เพียงแค่การมุ่งเน้นที่วอลุ่ม แต่ให้เน้นในเรื่องของคุณภาพ ปริมาณ และมาร์จิ้นด้วย ซึ่งหากสามารถขยายไปทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ความสามารถในการแข่งขันการทำกำไรก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม จนมาถึงปัจจุบันก็ได้เริ่มขยายไปสู่การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) และเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ทรานสปอร์ต หรือรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของพลังงานสะอาด ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีการเติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมอง EA ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายของบริษัทฯ เนื่องจากต้องการเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี ใช้ intelligent ของคน หรือนวัตกรรมใหม่ในธุรกิจที่ยังไม่มีใครเข้าไปทำมากนัก ทำให้ต้องใช้ความกล้าและจินตนาการ แต่หากทำสำเร็จ และมีฐานลูกค้าที่กว้าง จะทำให้ EA เข้าไปอยู่ในธุรกิจที่มีโอกาสในการทำกำไรสูง นอกเหนือจากประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่เสถียร ทั้งการทำสงครามระหว่างชาติตะวันออกและตะวันตก สงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลทำให้การขยายกิจการ การทำสินค้าใหม่ๆ มีความท้าทายมากขึ้น ส่วนราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนสูง EA ได้มีการทำธุรกิจที่มี value added จึงชดเชยกับราคาวัตถุดิบที่ผันผวนได้พอสมควร
ด้านนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวในงานสัมมนา ” Battle Strategy IV : STARTUP SME TO MEGATREND” ในหัวข้อ แข็งแกร่งแบบมหาชน เช่นกันว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์การเติบโตแบบก้าวกระโดด (Aggressive) ผ่านการทำธุรกิจแบบกินแบ่ง เพื่อคนตัวเล็ก และเป็นผู้ที่มีข้อจำกัดในการร่วมธุรกิจน้อย ทำให้มั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตแตะ 5,000-5,500 ล้านบาท จากปีก่อน 2,300 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 66 จะเติบโตแตะ 20,000 ล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ Financial Inclusion, Retail, Payments, Solutions and Channels, Innovation and Infrastructure
ด้านนางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ ORion บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวในงานสัมมนา ” Battle Strategy IV : STARTUP SME TO MEGATREND” ในหัวข้อ กำไรกระโดดแบบ Angel Investor ว่า ปัจจุบันบริบทของธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะเริ่มเห็นการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นการประกอบธุรกิจของ OR ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการประกอบธุรกิจใหม่ๆที่นอกเหนือจากน้ำมัน
ซึ่งมองว่าการดำเนินกิจการของบริษัทจะเป็นการร่วมมือกันธุรกิจ ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละคนเข้ามาร่วมกันเพื่อที่จะให้มีการเติบโตไปร่วมกัน โดยจะนำผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ SMEs เข้ามาร่วมธุรกิจกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า OR เท่ากับโอกาส ด้วยนโยบาย 3 มิติ คือ 1.People ในเรื่องของการทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น 2.Planet สิ่งแวดล้อมต้องดีขึ้น และ 3.Profit ผลตอบแทนที่จะตามมา ซึ่งต้องสร้างสมดุลของทั้งสามข้อ
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จาก 3P ที่บริษัทวางไว้คือ 1.ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ SMEs เข้ามาร่วมธุรกิจกัน 2.ลูกค้า และ 3. คือ OR โดยการสร้างผลกำไรในมิติของ 3P บริษัทจะมุ่งเน้นให้เกิดต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มของ OR มีทั้ง ประเทศ สังคม ชุมชน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และครอบครัว พนักงาน
โดยการก้าวกระโดดร่วมไปกับ OR นั้นจะต้องมีความเชื่อในเรื่องของ Synergy คือ 1+1 ต้องไม่เท่ากับ 2 ซึ่งต่างฝ่ายจะต้องนำจุดแข็งเข้ามาต่อยอดซึ่งกันและกัน เอาจุดแข็งมารวมกันทำให้ OR และ พันธมิตรทางธุรกิจเข้าสู่ตลาดได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ อาทิเช่น การเข้ามาใช้คลังสินค้าร่วมกัน งบการตลาดร่วมกัน หรือ ระบบการขนส่งร่วมกัน ต้นทุนก็จะปรับตัวลดลงทันที การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ตอนนี้สิ่งที่ OR กำลังทำคือ แสวงหาก่อนว่าใครจะมีศักยภาพ อันดับที่สองเมื่อเจอแล้วเราก็จะต้องติดอาวุธให้กับเค้า ธรรมชาติของ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ แน่นอนว่าทำธุรกิจใหม่ๆเอาให้รอดก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญก่อนเลยที่จะทำให้รอดคือความเป็นมาตรฐาน ทั้งเรื่อง บริหารคน บริหารงาน ภาษี เงิน กฎหมาย ต่างๆเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ OR จะเข้าไปทำให้เค้าเป็นมืออาชีพมากขึ้น” นางสาวราชสุดา