“บขส.” ตรึงค่าโดยสาร 3 เดือน หวังลดภาระค่าครองชีพปชช.

ขนส่ง “บขส.” ตรึงราคาค่าโดยสารในอัตราเดิม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน


นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง หมวด 2 (เส้นทางที่มีต้นทางจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด) และหมวด 3 (เส้นทางระหว่างจังหวัดที่ไม่มีกรุงเทพมหานครเป็นต้นทางปลายทาง) กิโลเมตรละ 5 สตางค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง มีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

โดยในส่วน บขส. ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารในอัตราเดิม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ทั้งนี้ แม้ว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ บขส. มีค่าใช้จ่ายต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น ประมาณ 3-5% หรือประมาณเดือนละ 6-8 ล้านบาท จากเดิมที่ บขส.มีต้นทุนน้ำมัน เฉลี่ยประมาณ 24-25 ล้านบาทต่อเดือน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 บขส.มีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมัน ประมาณเกือบ 200 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บขส. ยินดีที่จะตรึงราคาค่าโดยสารให้กับประชาชน และยังคงมุ่งมั่นที่จะให้บริการประชาชนด้วยบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและมีการป้องกันและ เฝ้าระวังการแพร่ระบายของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารและบนรถโดยสารด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบัน บขส. เปิดให้บริการเดินรถ ในเส้นทางภาคเหนือ จำนวน 15 เส้นทาง รวม 40 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อาทิ กรุงเทพ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-เชียงราย , กรุงเทพฯ-สุโขทัย-อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย , กรุงเทพฯ-(อุตรดิตถ์) พิษณุโลก , กรุงเทพฯ- แม่สาย , กรุงเทพฯ-หล่มเก่า ,กรุงเทพฯ-คลองลาน , กรุงเทพฯ-เชียงคำ , กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง , กรุงเทพฯ -เขื่อนภูมิพล , กรุงเทพฯ-สารจิตร และกรุงเทพฯ-ป่าแดด-เชียงของ เป็นต้น

สำหรับเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จำนวน 18 เส้นทาง รวม 52 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อาทิ กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-เชียงคาน, กรุงเทพฯ-สุรินทร์, กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์, กรุงเทพฯ-นครพนม, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-มุกดาหาร, กรุงเทพฯ-สระบุรี, เอกมัย-แหลมงอบ และจตุจักร-ตราด เป็นต้น

ขณะที่ เส้นทางภาคใต้ จำนวน 13 เส้นทาง รวม 35 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อาทิ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เกาะสมุย, กรุงเทพฯ-คลองท่อม-กระบี่, กรุงเทพฯ-สงขลา, กรุงเทพฯ-สุไหงโกลก, กรุงเทพฯ-ปัตตานี-ยะลา, กรุงเทพฯ (หมอชิต2) -หาดใหญ่, กรุงเทพฯ (หมอชิต2)- สตูล, กรุงเทพฯ(หมอชิต2)-นครศรีฯ-หัวไทร และกรุงเทพฯ (หมอชิต 2)-ตรัง เป็นต้น

Back to top button