“หุ้นเอเชีย” เปิดลบ! หลัง “พาวเวล” ยันเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดลบ โดยถูกกดดันจากถ้อยแถลงนายเจอโรม พาวเวล ที่ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้านี้ปรับตัวลง โดยถูกกดดันจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงก็ตาม
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,753.28 จุด ลดลง 51.32 จุด หรือ -0.19%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,917.45 จุด ลดลง 79.44 จุด หรือ -0.36% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,358.93 จุด ลดลง 2.59 จุด หรือ -0.08%
ขณะที่นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจัดขึ้นที่โปรตุเกสเมื่อวานนี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ
โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้นเราจะป้องกันไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อต่ำกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง โดยในระยะสั้นเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การแถลงของนายพาวเวลทำให้นักลงทุนกังวลว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยล่าสุดทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถดถอยในปี 2565 เมื่อพิจารณาจากการหดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของ GDP ไตรมาส 1/2565 เมื่อคืนนี้ โดยระบุว่า GDP หดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐจะหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1/2565
ทั้งนี้ หากตัวเลข GDP สหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/2565 ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ขณะที่นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคหลายรายการในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนมิ.ย. และยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมิ.ย.จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS)