ศูนย์จีโนมฯ คาดปลาย ส.ค. “BA.4-BA.5” ครองพื้นที่ในไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คาดปลายสิงหาคม "โอมิครอน" BA.4 และ BA.5 ครองพื้นที่ในไทย ส่วนสถานการณ์โลกยังไม่เพิ่มจนน่ากังวล ยังไม่มีสัญญาณจาก WHO เรียกถกรับมือ คาด "อนุทิน" ติดเชื้อที่ฝรั่งเศส อาจเป็น BA.4 และ BA.5 ที่แพร่ระบาดสูง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ในประเทศแถบยุโรป จากฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID พบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มชันมากจนมีนัยสำคัญ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังคงที่

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5  อาจจะใกล้เคียงหรือน้อยกว่าช่วงการระบาดของเชื้อโอมิครอนแรกๆ ที่เป็น BA.1 และ BA.2 และเมื่อดูประเทศโปรตุเกส ที่ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดชื้อรายใหม่ที่เป็น BA.4 และ BA.5 ที่น่าตกใจ ขณะนี้กราฟตัวเลขเริ่มลดความชันลง หากมีสถานการณ์ที่น่ากังวลใดๆ องค์การอนามัยโลกก็คงต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อเตรียมการรับมือ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ ยังระบุว่า จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และอัพโหลดแชร์ไว้บน GISAID สัดส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในประเทศไทยช่วง 18 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-24 มิถุนายน 2565 พบเป็น BA.2 จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.4, BA.4 จำนวน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.6, BA.5 จำนวน 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.2, BA.2.12.1 จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.9 และอื่นๆ จำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.9

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบก่อนหน้านี้เห็นชัดว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ชันมาก สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ BA.4 และ BA.5 เพิ่มมากขึ้นจนอาจจะครองพื้นที่ เนื่องจากทุกประเทศก็ผ่อนคลายมาตรการ แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา ก็มีแนะนำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนปรับสูตรวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) รับมือกับสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดในขณะนี้ จึงเป็นแนวโน้มทั่วโลกที่สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ จะเข้ามาครองพื้นที่ สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนนี้ เชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ก็คงครองพื้นที่เช่นกัน

สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าประมาณปลายสิงหาคม หรือต้นกันยายน BA.4 และ BA.5 ก็คงครองพื้นที่เช่นกัน ส่วนกรณีการติดเชื้อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เท่าที่ประเมินจากอาการและยังฉีดวัคซีนเข็ม 6 ไปแล้ว ทั้งเป็นการติดเชื้อจากฝรั่งเศสที่มีการแพร่ระบาดของ BA.4 BA.5 เป็นอันดับต้นๆ รองจากโปรตุเกส ก็คงติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 เช่นกัน

Back to top button