ปิดจ๊อบ! 10 ดีลใหญ่ครึ่งแรกปี 65 “ผนึกพันธมิตร-ระดมทุน-ฮุบกิจการ” ต่อยอดธุรกิจ
เปิด 10 ดีลใหญ่ครึ่งแรกปี 65 “ลุยผนึกพันธมิตร-ระดมทุน-ฮุบกิจการ” เพื่อเข้ามาต่อยอดธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งผลประกอบการยั่งยืนในอนาคต
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก 2565 แม้จะเผชิญความท้าทายจากผลกระทบโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ผนวกภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี รวมถึงการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
โดยผลดังกล่าวกลับไม่เป็นอุปสรรคในการขยายกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีหลายบริษัทจับมือเป็นพันมิตรทางธุรกิจ หรือเข้าซื้อกิจการ (ควบรวมบริษัท) ซึ่งแต่ละดีลมีมูลค่ามากถึงหลักพันล้านไปถึงหลักหมื่นล้าน อย่างกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม ธนาคาร ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังมาแรงในการเข้ามาต่อยอดธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการรวบรวมในการทำดีลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงดังกล่าว มานำเสนอให้นักลงทุนได้ไม่ลืมเลือนไป โดยดีลขนาดใหญ่ที่น่าสนใจในช่วงครึ่งแรกปี 2565 มีดังนี้
GULF ร่วมทุนไบแนนซ์ ตั้งตลาดซื้อขายสินทรัพย์ฯ รุกโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเต็มสูบ
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่มไบแนนซ์ (Binance) โดยส่งบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด (Gulf Innova) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Binance เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย และเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัทได้มีการจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (“Gulf Binance”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ Gulf Innova และ Binance Capital Management ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และสัดส่วน 49% ตามลำดับเป็นที่เรียบร้อย
กระทั่งสถานการณ์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนและถือเป็นขาลงธุรกิจเต็มตัว โดยจากราคาบิตคอยน์ที่ปรับตัวลงจากระดับ 6,9000 เหรียญ มาอยู่ที่ระดับ 20,000 เหรียญ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 65 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่พุ่งทะยานเกินคาดถึง 8.6% ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 40 ปี จนทำให้เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 ทำให้ GULF ต้องปรับแผนการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยมีการขายบริษัท Gulf International Investment Limited (GIIL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล BNB Coin ของ Binance ให้แก่บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (GHT) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 4.86% และเป็นของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ถือหุ้น 99.99% ด้วยมูลค่า 1,681.67 ล้านบาท เนื่องจากตลาดคริปโตคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นขาลงเต็มตัว อาจฉุดกำไรบริษัทในอนาคต
อย่างก็ตามบริษัทเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผนึกความแข็งแกร่งจากทั้งสองบริษัท เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และความชำนาญในการพัฒนาและบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศ โดยมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน ในขณะที่ Binance มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ต้องติดตามกันว่าจากนี้ไปทิศทางธุรกิจนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
SABUY ครึ่งแรกปี 65 ลุย ปิดจ๊อบซื้อกิจการ-ร่วมทุนพันธมิตรเพียบ!
บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY โดยลุยปิดดีลเข้าซื้อกิจการ และจับมือพันธมิตรขยายธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ปี 65 ก้าวสู่ “SABUYVERSE” สานต่อธุรกิจครอบคลุม 7 สะดวก 7 SMART อย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ดีลจากเป้าที่วางไว้ในต้นปี อาทิ (1) เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เพย์โพสต์เซอร์วิส จำกัด (Payspost) ประกอบธุรกิจในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการในการให้บริการด้านขนส่ง โดยการรวบรวมขนส่งชั้นนำในสัดส่วนไม่เกิน 75%
(2) อนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ลอนดรี้บาร์ ไทย จำกัด (LBT) เป็นผู้ให้บริการร้านซัก-อบผ้าแบบบริการตนเอง ที่ใช้ระบบจัดการจากประเทศมาเลเซีย มีสาขามากกว่า 135 สาขา ในสัดส่วนไม่เกิน 20% (3) อนุมัติเข้าร่วมลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ซิตี้ซอฟท์อินโฟเทค จำกัด (CITY) เป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ (โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์) ในสัดส่วนไม่เกิน 60%
(4) อนุมัติให้เข้าร่วมลงทุนใน บริษัท อี๊ตแล็บ จำกัด (EATLAB) ผู้ให้บริการ SaaS (Service as a Solution) แก่ร้านอาหาร เพื่อช่วยในการตัดสินใจออกแบบ เมนูอาหาร โปรโมชั่น แคมเปญต่าง ๆ ในสัดส่วนไม่เกิน 10.15% (5) อนุมัติเข้าร่วมลงทุนใน บริษัท คีน โปรไฟล์ (ประเทศไทย) จำกัด (KEEN PROFILE) ผู้ให้บริการด้าน HROD Tech ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีผู้ให้บริการน้อยรายในไทย ในสัดส่วนไม่เกิน 15%
ส่วนดีลที่ (6) อนุมัติให้เข้าลงทุนร่วมกับกลุ่มบริษัทโอมันนี่ (OMoney) ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ในนามบริษัท โอมันนี่ แคปปิตอล จำกัด (OCap หรือชื่ออื่น ตามคำสั่งของนายทะเบียน) ด้วยเงินลงทุนจำนวน 50 ล้านบาท โดยทางกลุ่มบริษัทจะเข้าถือหุ้นในบริษัทจัดตั้งใหม่ในสัดส่วน 60% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของกลุ่มบริษัทโอมันนี่ 40% เพื่อดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ Pico Finance และ7.อนุมัติเข้าลงทุนเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนออกใหม่ของบริษัท คาร์ฟินน์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (CarFinn) ในสัดส่วน 20% ของ CarFinn ประกอบธุรกิจในการให้บริการจัดหาสินเชื่อรถยนต์ทุกประเภทแบบครบวงจรให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทมีมติอนุมัติเข้าลงทุนในบริษัท อินดีม กรุ๊ป จำกัด (INDEEM) ในสัดส่วน 30% และเข้าร่วมลงทุนกับ INDEEM ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 60% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 3 ล้านบาท และ INDEEM ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ทั้งนี้ INDEEM เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมสารสกัดจาก กัญชง กัญชา และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ในลักษณะแบบเครือข่าย
ขณะเดียวกันอนุมัติให้เข้าลงทุนในบริษัท ลอคบอกซ์ กรุ๊ป จำกัด (Lockbox) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับ Smart locker box หลากหลายรูปแบบ ในสัดส่วน 20% และอนุมัติบริษัทเข้าลงทุนในบริษัท ดิ อะชีฟเวอร์ 59 จำกัด (Achiever59) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับ Smart locker box หลากหลายรูปแบบ ในสัดส่วน 20% รวมทั้งอนุมัติให้เข้าร่วมทุนกับ Achiever59 ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ เพื่อลงทุนร่วมกันในธุรกิจการให้บริการ Smart locker box ทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท โดยบริษัท หรือ SABUYAC จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทร่วมทุน
อีกทั้งยังมีมติเห็นชอบการเข้าลงทุนในบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ AIT จำนวน 30 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 2.91% นอกจากนี้บริษัท ได้เข้ามาร่วมในการถือหุ้น TSR ในสัดส่วน 24.92% เพื่อที่จะมาร่วมมือกันในการพัฒนาธุรกิจ (Business Strategy) จากระบบ Ecosystem ที่กลุ่ม SABUY มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ล่าสุด 24 มิ.ย. 65 ทาง SABUY เดินหน้าขยายกิจการอย่างไม่หยุดยั้งปิด 2 ดีลใหญ่ โดยบริษัทอนุมัติขยายธุรกิจ Technology มากยิ่งขึ้นโดยการเข้าถือครองหุ้น 51% ในบริษัท ไอซอฟเทล (ประเทศไทย) จำกัด (“iSoftel”) นอกจากนี้ได้เข้าถือหุ้น 50% ใน บริษัท อุ๊ปส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด และ บริษัท เรดเฮ้าส์ ดิจิตอล จำกัด โดย บริษัท อุ๊ปส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เป็นสื่อออนไลน์ด้านธุรกิจชั้นนำ เจ้าของสื่อเว็บไซต์ Marketing oops สื่ออันดับ 1 ในขณะที่บริษัท Redhouse Digital ในเครืออุ๊ปส์ เน็ตเวิร์ค ที่ให้บริการด้านกลยุทธ์ และ solution ในการผลิตงานด้านการตลาดดิจิทัลให้แบรนด์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ
จากดีลทั้งหมดในช่วงครึ่งแรก 2565 เชื่อว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจในเครือ SABUY ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SABUYVERSE ecosystem ได้อีกด้วย นอกจากนี้ต้องจับตารายได้ปีนี้ตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณ 5,000–5,500 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มีรายได้ประมาณ 2,300 ล้านบาท ส่วนปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ 20,000 ล้านบาท จากการเติบโตของ 5 ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากการจับมือพันธมิตร และการเข้าลงทุนกิจการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Ecosystem ของบริษัทมีความแข็งแกร่งจะเข้าเป้าตามแผนหรือไม่
RS ทุ่มเงิน 880 ล้าน รวบขายตรงยูนิลีเวอร์
บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ประกาศเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของยูนิลีเวอร์ ไลฟ์ หรือ ยูไลฟ์ (ULife) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์ด้วยมูลค่า 880 ล้านบาท เพื่อต่อยอดโมเดล Entertainmerce และขยาย Ecosystem ของ RS ช่วยเสริมความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องของโปรดักส์ ช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจคอมเมิร์ซ และสร้างการทำงานร่วมกัน (Synergy) ภายในกลุ่มธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร และจำนวนสมาชิกภายใต้เครือข่ายธุรกิจกว่า 150,000 ราย ของ ยูไลฟ์ ประกอบกับการ Synergy กับ Ecosystem ของ RS คาดว่าจะเสริมให้รายได้ของ ยูไลฟ์ หลังสถานการณ์โควิด-19 เติบโตอยู่ในระดับทะลุ 1,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะผลักดันและสร้างการเติบโตอย่างเต็มที่เพื่อให้ ยูไลฟ์ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทขายตรงอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศภายในปี 2567
SCC ปิดดีลซื้อ Sirplaste รุกผลิตเม็ดพลาสติกฯ ในโปรตุเกส-ทวีปยุโรป
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ได้บรรลุข้อตกลงการลงทุนซื้อกิจการ 70% ใน Sirplaste-Sociedade Industrial de Recuperados de Plástico, S.A. (Sirplaste) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (Recycled Polymers or Post-Consumer Resin-PCR) รายใหญ่ที่สุดในประเทศโปรตุเกสมูลค่าลงทุนกว่า 901 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี และมีฐานลูกค้าที่หลากหลายทั่วทั้งประเทศโปรตุเกสและประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป
โดย ณ สิ้นปี 2564 Sirplaste มีรายได้รวมทั้งปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 23.6 ล้านยูโร (หรือประมาณ 897 ล้านบาท) ซึ่งงบการเงินของ Sirplaste จะถูกรวมเข้ากับงบการเงินรวมของ SCC ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป
IVL ปิดดีลซื้อ Oxiteno ในบราซิล ก้าวขึ้นแท่นผู้นำตลาดสารลดแรงตึงผิว
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ของบริษัท Oxiteno S.A.–Indústria e Comércio ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และบริษัทในเครือ (Oxiteno) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ทำให้ IVL สามารถขยายศักยภาพการเติบโตไปยังตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างมากในภูมิภาคลาตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกา และส่งผลให้ IVL ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสารลดแรงตึงผิว ชั้นนำในทวีปอเมริกา พร้อมโอกาสเพิ่มเติมในการขยายไปยังทวีปยุโรปและเอเชีย
PTT ปิดดีลซื้อบริษัทยาระดับโลก ส่ง ‘อินโนบิก’ ถือหุ้นใหญ่โลตัสฟาร์มาฯ-Adalvo
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการปิดดีลซื้อบริษัทยาระดับโลก โดยส่งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพจากประเทศไอซ์แลนด์ แอซทีค (Aztiq HK. Limited : AZTIQ) ประกาศความสำเร็จปิดดีลการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (Alvogen Emerging Markets Holdings Limited : AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) และถือหุ้น 100% ของบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo Ltd. : Adalvo) บริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก
โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อินโนบิกก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ Lotus Pharmaceutical ในสัดส่วน 37% และ Adalvo ถือหุ้นสัดส่วน 60% เสริมศักยภาพความพร้อมและความแข็งแกร่ง Lotus Pharmaceutical ในฐานะบริษัทยาชั้นนำระดับโลกทั้งด้านการค้าและเงินลงทุน และมุ่งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงยาสามัญที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลให้กับประเทศ โดยหวังเสริมสร้างความเข้มแข็งดำเนินธุรกิจครบวงจร
TRUE-DTAC ฉลุย! ผู้ถือหุ้นไฟเขียวควบบริษัท
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC สืบเนื่องจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ TRUE เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 มีมติอนุมัติการควบบริษัทกับ DTAC ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 99.3713% ของผู้ที่มีสิทธิออกเสียง ส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย คิดเป็น 0.6283% เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้น DTAC ที่มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการกับ TRUE ด้วยเสียง 89.07%
โดยในการควบบริษัทจะได้มีการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท (บริษัทใหม่) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ DTAC และผู้ถือหุ้น TRUE ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่
อนึ่งขั้นตอนการควบรวมก่อนหน้านี้นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE กล่าวว่า หลังจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท ได้อนุมัติการควบบริษัทแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณา รวมถึงเจ้าหนี้ที่จะยินยอมให้มีการควบบริษัท ต่อจากนั้นประมาณปลายเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565 จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยความสมัครใจ โดย TRUE ราคาเสนอซื้อที่หุ้นละ 5.09 บาท ส่วน DTAC หุ้นละ 47.76 บาท
ส่วนผู้ถือหุ้นที่ลงมติคัดค้านการควบบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ บริษัทจะต้องรับซื้อในภายหลังจากการทำเทนเดอร์ฯ ครั้งแรก ในราคาปิดของ TRUE และ DTAC วันที่ 1 เม.ย. 65 ซึ่งเป็นวันซื้อขายครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มกระบวนการควบบริษัท โดย TRUE จะรับซื้อหุ้นละ 5.15 บาท ส่วน DTAC จะรับซื้อหุ้นละ 50.50 บาท
โดยหลังจากควบรวมกิจการและจัดตั้งบริษัทใหม่แล้ว กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จะถือหุ้น 28.98%, กลุ่มเทเลนอร์ 27.35% (ประกอบด้วย TnA (Telenor Asia Pte Ltd) ถือหุ้น 19.64% และบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 7.71%) China Mobile International 10.43% และผู้ถือหุ้นรายอื่น 33.24% ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยความสมัครใจ
อย่างไรก็ตามการควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อพิจารณาอนุมัติควบรวมตามแผนที่บริษัทได้วางไว้หรือไม่
“ไทยประกันชีวิต” เคาะ “ไอพีโอ” 16 บ. จับตา “ฟาสท์แทร็ค” เข้า SET50 อัตโนมัติ
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,384.32 ล้านหุ้น คิดเป็น 20.6% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดแบ่งเป็น
(1)หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 1,000 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 8.6% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 สินทรัพย์รวมของบริษัทมีจำนวนเท่ากับ 511,443.44 ล้านบาท (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด จำนวน 1,218.82 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 10.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด และ (3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 165.50 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 1.4% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นอกจากนี้มีการจัดสรรหุ้นกรีนชูจำนวน 161 ล้านหุ้น หาก ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ มีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย โดยล่าสุดมีการเคาะวันจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-14 ก.ค. 65 โดยกำหนดราคาเสนอขายต่อประชาชนอยู่ที่ 16 บาทต่อหุ้น
ด้านนายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS กล่าวว่า การปรับพอร์ตหุ้นเข้าออก SET50 ในช่วงที่เหลือของปียังไม่จบ เพราะคาดว่าจะมี หุ้น IPO ขนาดใหญ่ถึง 2 บริษัท มีโอกาสเข้าจดทะเบียนและ Fast Track เข้าดัชนี SET50 ได้ ในช่วงครึ่งปีหลัง โดย 1 บริษัทมูลค่าระดมทุนขนาดใหญ่อย่าง “ไทยประกันชีวิต” ที่อาจจะเบียดให้หุ้นมี Market Cap เล็กสุด 2 อันดับสุดท้ายใน SET50 ตกชั้นมาอยู่แค่ดัชนี SET100 เท่านั้น
โดยเบื้องต้นประเมินว่าปัจจุบันมีหุ้นอยู่ในความเสี่ยงตกชั้น SET50 อยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC อยู่ในอันดับ 50 มาร์เก็ตแคป 63,755 ล้านบาท, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ในอันดับ 49 มาร์เก็ตแคป 66,597 ล้านบาท มีความเสี่ยงสูงสุด
JMT ผนึก KBANK ตั้งบริษัทร่วมทุน “JK AMC” ลุยบริหารหนี้เสีย-ประเดิมก้อนแรก 3 หมื่นล้าน
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เดินหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุน( JV AMC) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2565 โดยได้มีการจัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด หรือ JK AMC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ JK AMC ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.แล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ภายใต้ชื่อบริษัท “บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด” ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดย KVISION และ JAM ถือหุ้นใน JK AAMC สัดส่วนรายละ 50% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ณ วันจดทะเบียนจัดตั้ง และปัจจุบันมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10,000 ล้านบาท โดยจดทะเบียนบริษัทวันที่ 29 มีนาคม 2565
สำหรับการจัดตั้ง JK AMC มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามกฎหมายและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของ ธปท. โดยจะดำเนินการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งรวมถึงทรัพย์สินรอการขายทั้งจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของ KBANK สถาบันการเงินอื่นและบริษัทอื่น ทั้งลูกหนี้ มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
โดยบริษัทคาดว่าความร่วมมือระหว่าง JAM และ KVISION ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยทำให้ลูกหนี้สามารถมีสถานะการเงินที่ดีขึ้นและกลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินได้ตลอดจนช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้ ด้อยคุณภาพของระบบสถาบันการเงิน ด้วยศักยภาพและความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของบริษัท ถึงแม้จะต้องอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทางเศรษฐกิจก็ตาม
ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับกลุ่ม JMT ในการร่วมทุนด้วยวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง JK AMC ขึ้นมาส่งผลดีต่อการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับข้อเสนอการชำระหนี้เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นก็จะเข้าถึงการขอสินเชื่อในระบบต่อไป โดยธนาคารมีแผนโอนขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ JK จำนวน 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 โดยหนี้เสียล็อตแรกที่ส่งให้ JK จะมีจำนวน 30,000 ล้านบาท
ขณะที่นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JK AMC กล่าวว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัทจำนวน 10,000 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซื้อหนี้เสียทั้งที่มีหลักประกัน (Secure) และไม่มีหลักประกัน (Unsecure) จากธนาคารกสิกรไทย โดยในล็อตแรกที่ธนาคารกสิกรไทยจะโอนเข้ามาจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ (30 มิ.ย. 2565) และ JMT จะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป การร่วมทุนดังกล่าวส่งผลต่อกำไรของ JMT ในปีนี้ และปี 2566 โดยเฉพาะช่วงปี 2566 ผลกำไรจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยแน่นอน
JMT ตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพภายใน 3 ปีนี้ (2568) โดยวางเป้าหมายพอร์ต JK ในระยะยาวช่วง 15 ปี ในการบริหารจัดการหนี้เสียตามกฎเกณฑ์ของธปท.ที่กำหนดไว้ ให้สามารถเติบโตแตะ 100,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีนี้ (2568) ซึ่งทาง JK ได้เตรียมแผนธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่น ๆ มาบริหารจัดการ
ขณะที่นายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และ JMT กล่าวว่า ธุรกิจ JMT เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% รวมถึงกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องในทุกปี การร่วมมือกันระหว่าง KBANK และ JMT จัดตั้ง JK AMC ครั้งนี้ ส่งผลให้ JMT สามารถเติบโตได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน กลายมาเป็นการเติบโตแบบ J Curve ที่มีการเติบโตไม่น้อยกว่า 50%
BAY ทุ่ม 5.5 พันล้าน! ซื้อ “โนมูระ พัฒนสิน” จับตาควบเข้า “บล.กรุงศรี” ดันส่วนแบ่งตลาดพุ่ง
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เข้าซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ 99.1 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS จาก Nomura Asia Investment (Singapore) Pte Ltd. (“NAIS”) และมีความตั้งใจที่จะรับซื้อ หุ้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.9 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ CNS จากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ CNS รวมสูงสุดอัตราร้อยละ 100 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ CNS คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,501 ล้านบาท
อนึ่ง CNS ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย โดย CNS มีประวัติในการประกอบธุรกิจที่ยาวนานและมีชื่อเสียงในด้าน การให้บริการหลักทรัพย์สำหรับนักลงทุน ซึ่งมีบริการและผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่การบริการซื้อขายหลักทรัพย์ อนุพันธ์ และ ตราสารหนี้ บริการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ บริการซื้อขายกองทุนรวมภายใต้ชื่อ iFund และบริการวาณิชธนกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ธนาคารคาดว่าจะได้รับจากการเข้าซื้อกิจการ จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารดังนี้ 1. สร้างการเติบโตในธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคาร 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านความสามารถในการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 3.สร้างการเติบโตเพิ่มเติมในธุรกิจตลาดทุนของธนาคาร 4.เสริมสร้างความสามารถในการจัดทำบทวิเคราะห์
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าทางธนาคารกรุงศรีได้การเข้าซื้อกิจการ “บล. โนมูระ พัฒนสิน” อาจเป็นการควบรวมกิจการหลักทรัพย์ และช่วยเสริมส่วนแบ่งการตลาดของ บล.กรุงศรีเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจากการสำรวจอันดับการซื้อขายโบรกเกอร์ประจำวันที่ 1-28 มิ.ย.2565 มูลค่าการซื้อขายรวมของบล.กรุงศรี อยู่ที่ราว 24,467.15 ล้านบาท และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 679.64 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 1.09% และอันดับซื้อขายของโบรกเกอร์อยู่ที่อันดับ 27
ขณะที่บล.โนมูระมูลค่าซื้อขายช่วง 1-28 มิ.ย.2565 อยู่ที่ 30,487.21 ล้านบาท และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 846.87 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 1.35% อันดับซื้อขายของโบรกเกอร์อยู่ที่อันดับ 22
โดยเมื่อรวมส่วนแบ่งการตลาดของบล.ทั้ง 2 แห่ง รวมกันมูลค่าซื้อขายรวมอยู่ที่ 54,954.36 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดรวมอยู่ที่ราว 2.44% ดังนั้นหากทั้งสองบริษัทมีการควบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียว คาดว่าจะช่วยดันส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นมาติด 1 ใน 10 อันดับซื้อขายโบรกเกอร์ก็เป็นได้