“หุ้นเอเชีย” เปิดผันผวน นลท.จับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีน
“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดผันผวนตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ จากแรงซื้อของนักลงทุนช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาว ขณะที่ตลาดยังจับตาหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน รวมถึงนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดดีดตัวขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ (1 ก.ค.65) จากแรงซื้อของนักลงทุนในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาว ส่วนในวันนี้ (4 ก.ค.65) ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการเนื่องในวันชาติ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,086.78 จุด เพิ่มขึ้น 151.16 จุด หรือ +0.58%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,690.68 จุด ลดลง 169.11 จุด หรือ -0.77% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,381.82 จุด ลดลง 5.82 จุด หรือ -0.17%
ขณะที่ตลาดยังจับตาหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน หลังจากที่บริษัท Shimao ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นหุ้นกู้ต่างประเทศรวมมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ก็ผิดนัดชำระเงินต้น หรือผิดนัดชำระหนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการของจีน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.จากไฉซิน, ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนมิ.ย., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน, รายงานการจ้างงานเดือนมิ.ย.ของสหรัฐ และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนก.ค.นี้
โดยนักวิเคราะห์คาดว่า แนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรีฟินิทีฟ ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 จะขยายตัว 5.6% ลดลงจาก 6.8% ที่คาดไว้ในช่วงต้นไตรมาส
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์นั้น เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563 และต่ำกว่าระดับ 57.0 ในเดือนพ.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 52.4
ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) กล่าวว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 56.1 ในเดือนพ.ค.