สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ (1 ก.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,097.26 จุด เพิ่มขึ้น 321.83 จุด หรือ +1.05%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,825.33 จุด เพิ่มขึ้น 39.95 จุด หรือ +1.06% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,127.85 จุด เพิ่มขึ้น 99.11 จุด หรือ +0.90%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดทรงตัวในวันศุกร์ (1 ก.ค.) โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มปลอดภัยได้บดบังแรงขายหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และกลุ่มที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่นักลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีในเดือนก.ค.นี้ โดยข้อมูลที่เปิดเผยในวันศุกร์บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของยูโรโซนเพิ่มขึ้นเกินคาดและแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือนมิ.ย. ซึ่งสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB เนื่องจากอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุด
ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 407.13 จุด ลดลง 0.07 จุด หรือ -0.02%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,931.06 จุด เพิ่มขึ้น 8.20 จุด หรือ +0.14%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,813.03 จุด เพิ่มขึ้น 29.26 จุด หรือ +0.23% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,168.65 จุด ลดลง 0.63 จุด หรือ -0.01%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ (1 ก.ค.) หลังการเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่ากิจกรรมการผลิตของอังกฤษลดลงในเดือนมิ.ย.ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของอังกฤษจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,168.65 จุด ลดลง 0.63 จุด หรือ -0.01%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (1 ก.ค.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวในตลาดโลกนั้น ยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคา
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 2.67 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 108.43 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 0.8% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 2.6 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 111.63 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 2.3% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (1 ก.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยถ่วงตลาด โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.8 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,801.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 และปรับตัวลง 1.6% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 68.5 เซนต์ หรือ 3.37% ปิดที่ 19.667 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 24 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 871.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 22.00 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,938.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (1 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.43% แตะที่ระดับ 105.1400
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 135.25 เยน จากระดับ 135.55 เยน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9599 ฟรังก์ จากระดับ 0.9535 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2888 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2871 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0428 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0483 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.2096 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2182 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6819 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6907 ดอลลาร์สหรัฐ