ครม.เคาะ 309 ลบ. ดันส่งออก “น้ำมันปาล์ม” ถึง ก.ย.นี้ หวังรักษาเสถียรภาพราคา
ครม.อนุมัติวงเงินมูลค่า 309 ล้านบาท ดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจนถึง ก.ย. เพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้สมดุล เน้นรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 65 ภายใต้เงื่อนไขระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก โดยอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินในประเทศให้เข้าสู่ระดับสมดุล และยกระดับราคาผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายได้ให้สูงขึ้น รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
โดยสาระสำคัญของโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2565 สนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil :CPO) ปริมาณเป้าหมาย 150,000 ตัน ระยะเวลาการส่งออกภายในเดือนกันยายน 2565 ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้ค้าผู้จัดเก็บ หรือผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มหรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม โดยจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับการส่งออก ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท เช่น ค่าขนส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าเอกสารและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น ระยะเวลาการส่งออก ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจนถึงเดือนกันยายน 2565 และระยะเวลาโครงการตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ จนถึงเดือนธันวาคม 2565
“วงเงินทั้งสิ้น 309 ล้านบาท โดยเป็นค่าบริหารจัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบให้ผู้ส่งออก 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในส่วนราชการอีก 9 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขต่อเมื่อระดับสต็อก น้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตันและราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก” นายธนกร กล่าว
ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า โครงการฯ นี้ จะเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพตลาดปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มภายในประเทศ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมทั้งสอดรับกับความต้องการการใช้น้ำมันปาล์มจากภาคพลังงานภายในประเทศที่ลดลง จากมาตรการปรับลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล รวมทั้งระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ 300,000 ตัน คิดเป็น 1.5 เท่าของความต้องการใช้ภายในประเทศต่อเดือน ซึ่งถือเป็นระดับสต็อกที่ปลอดภัย (Safety Stock) และมั่นใจได้ว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดขาดแคลนภายในประเทศ
“เพื่อช่วยป้องกัน และบรรเทาสถานการณ์น้ำมันปาล์ม และปาล์มน้ำมันล้นตลาด ลดความผันผวนในตลาด หากมีการปฏิเสธการซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกร รวมทั้งสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการระบายผลผลิตส่วนเกินออกนอกประเทศด้วย” นายธนกร กล่าว