“กกพ.” เคาะ 6 เงื่อนไขรับซื้อ “ไฟฟ้าขยะชุมชน” 282.98 MW ถึง 29 ธ.ค.66
“กกพ.” เคาะ 6 เงื่อนไขเปิดรับซื้อ “ไฟฟ้าขยะชุมชน” 34 โครงการ 282.98 MW ถึง 29 ธ.ค.66 จับตา ACE-SUPER ตัวเต็งชิงเค้ก!
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันนี้(5 ก.ค.2565) กกพ.ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน พ.ศ.2565 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) จากผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) ในรูปแบบ Feed-in-Tarrif (FiT) ตามรายชื่อโครงการที่กระทรวงมหาดไทยเสนอกำหนด และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
โดยขณะนี้มีจำนวน 34 โครงการ กำลังการผลิต 324.75 เมกะวัตต์ ปริมาณการรับซื้อรวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นปริมาณขยะ 16,799 ตันต่อวัน โดยโครงการที่ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับเอกชนแล้ว 9 โครงการ , คัดเลือกเอกชนได้แล้ว 9 โครงการ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน
ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าต้องเสนอขายปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกินศักยภาพของระบบไฟฟ้าที่การไฟฟ้ารับซื้อได้ และต้องปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน พ.ศ.2565
สำหรับกำหนดการรับซื้อไฟฟ้า มีกระบวนการและกรอบระยะเวลา ดังต่อไปนี้
1.การไฟฟ้าออกประกาศให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ กกพ. ออกประกาศ
2.การไฟฟ้าออกประกาศกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ระยะเวลา แบบคำเสนอขอขายไฟฟ้าและเอกสารหลักฐาน รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้าภายในเดือนก.ค.65
3.การไฟฟ้าเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า โดยปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ ยื่นที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ยื่นที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่การไฟฟ้ามีประกาสถึงวันที่ 29 ธ.ค.66
4.การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 60 วัน นับจากวันที่เอกสารครบถ้วน
5.ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในโอกาสแรกที่สามารถทำได้
6.กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 ครั้งที่ 158 เมื่อวันที่ 6 พ.ค.65 ภายในปี 65-69
อนึ่งก่อนหน้านี้(13 พ.ค.2565) นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ข่าวหุ้น” ออกอากาศทาง MCOT HD ช่อง 30 ว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ (MW) สำหรับทางบริษัทยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คาดว่าครอบคลุมโครงการที่ได้สัญญากำจัดขยะและรอคิวอยู่แล้ว โดยทางบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ได้สัญญากำจัดขยะแล้วจำนวน 2 โครงการ ที่ยังรอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหน่วยงานที่รับซื้อไฟฟ้า
โดยทั้ง 2 โครงการที่จ่อคิวอยู่นั้น เป็นโครงการที่บริษัทชนะการประกวดราคาเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ในการกำจัดขยะขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงหวาง จ.อุดรธานี และ อบต.โชคชัย จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 9.9 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการละ 8 เมกะวัตต์ เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็จะเริ่มพัฒนาโครงการได้เลย นอกจากนี้่ ACE ยังได้มีการเตรียมการไว้หลายพื้นที่ จากเป้าหมายโรงไฟฟ้าขยะ ที่เดิมทางภาครัฐมองไว้ประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีประกาศออกมาบางส่วน ก็ยังมีส่วนที่เหลือที่ต้องรอต่อไป ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะทางบริษัทจะมีรายได้จาก 2 ส่วน ประกอบด้วย ค่ากำจัดขยะ และค่าจำหน่ายไฟฟ้า
ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการดังกล่าวเช่นกันว่า จากมติของ กพช. เห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ทางบริษัทก็มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ จ.นครศรีธรรมราช ขนาด 20 เมกะวัตต์ และที่ จ.นนทบุรี ขนาด 20 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 40 เมกะวัตต์ โดยได้มีการทำประชาพิจารณ์ครบถ้วนแล้วทั้ง 2 โครงการ และเซ็นสัญญารับกำจัดขยะกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว 20 ปี หลังจากนี้รอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18-20 เดือนถึงจะแล้วเสร็จ