DBSV หั่นเป้า SET ปีนี้เหลือ 1,680 จุด แนะ 5 ธีมลงทุนไตรมาส 3

DBSV หั่นเป้า SET ปีนี้เหลือ 1,680 จุด รับปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น แนะนักลงทุนปรับพอร์ตตั้งรับวิกฤต พร้อมเปิดโผธีมลงทุนไตรมาส 3/65 ชูธีมหุ้น “เปิดเมือง-เฮลท์แคร์-พลังงาน-EV-แบงก์” โดดเด่น


บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ปรับพอร์ต รับวิกฤตหุ้นครึ่งปีหลัง” โดย นายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อํานวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นภัยคุมคามการลงทุนอยู่ ซึ่งจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะเห็นปัญหาซัพพลายเชนดีสรัปชั่น (Supply Chain Disruption) และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศคลี่คลาย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจหรือจีดีพี ในปี 2565 ใหม่ โดยปรับลดแนวโน้มจีดีพีประเทศสหรัฐอเมริกาลงเหลือ 2.5% จากเดิม 3% จีดีพีประเทศในยุโรปเหลือ 1.4% จาก 3% จีดีพีจีนเหลือ 4.8% จาก 5.3% ญี่ปุ่นเหลือ 1.6% จาก 2.2% ส่วนประเทศไทยคงคาดการณ์จีดีพีเติบโตเท่าเดิมที่ 3.5%

“การปรับลดจีดีพีเป็นผลมาจากเราเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะถดถอยกำลังแรงขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐรุ่น 10 ปี และ 2 ปี เริ่มกลับมาใกล้ติดลบ ซึ่งบลูมเบิร์ก ได้ทำโมเดลคาดการณ์ชี้ว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 98% ในระยะ 24 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจและแนวโน้มการบริโภคทั่วโลก ถูกฉุดด้วยนโยบายเข้มงวดทั้งการเงินและการคลัง รวมทั้งยังต้องจับตาจีนว่าจะผ่อนคลายนโยบายโควิดในเร็วๆ นี้หรือไม่” นายธนวัฒน์ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากมองว่าหุ้นทั้งสองประเทศนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 เพราะผู้นำจีนประกาศแนวนโยบายหนุนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และในไตรมาส 3/2565 แนะนำให้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากมองว่าหุ้นญี่ปุ่นมักจะ outperform เมื่อค่าเงินเยนอ่อน

“เรายังคงแนะนักลงทุนจัดพอร์ต โดยเน้นหุ้นคุณภาพ มีการกระจายรายได้ที่ดีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และภูมิภาค ซึ่งเรายังชื่นชอบหุ้นจีน เพราะคาดผลตอบแทนคุ้มค่าความเสี่ยง รวมทั้งหุ้นญี่ปุ่น ส่วนหุ้นยุโรปเราแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำกลุ่มที่มีเรทติ้งระดับ A/BBB และมีอายุตราสารไม่ยาวนักอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี โดยให้ลดน้ำหนักหุ้นกู้ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงหรือความเสี่ยงในการลงทุนช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม

ด้าน นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)   กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวน ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ลดลงเหลือที่ระดับ 1680 จุด จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีปีนี้อยู่ที่ระดับ 1800 จุด

โดยการปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นในปีนี้ลง เนื่องจากมองว่าตลาดยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสูง และวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงาน ธัญพืชและอาหารสูงขึ้น

นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและรายย่อย ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยพยุงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางอาหารสูง

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อ ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 4/2565 มีโอกาสชะลอตัวลง หากราคาน้ำมันดิบไม่ได้พุ่งแรง โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤษภาคม 2565 ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี  ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี  ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงรอบนี้มาจาก Cost Push ตัวหลักคือ ราคาพลังงาน ดังนั้นถ้าราคาพลังงานไม่ถอยลง อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงไม่ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมรอบต่อไป 26-27 กรกฎาคม 2565 และคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสเริ่มปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังของปี 2565

ส่วนปัจจัยที่ควรระวัง คือ เม็ดเงินไหลออกจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยที่จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยในสิ้นปี 2565 อาจเห็น Gap ที่สูงถึง 2.25% ซึ่งประเด็นนี้ผนวกกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ประเมินไว้ว่าปีนี้จะอยู่ที่ 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะทำให้เงินบาทยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยถดถอย ในขณะนี้เรามองว่ายังมีความเสี่ยงน้อย แต่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวและเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ 0.2-0.3%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน  ฝ่ายวิจัยของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ แนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นที่ธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุด และมีแนวโน้มฟื้นตัวและมี Upside สูง โดยธีมการลงทุนในไตรมาส 3/2565 ประกอบด้วย หุ้นธีมเปิดเมือง (Reopening)  ธีมหุ้น Defensive  ธีมหุ้น EV  ธีม Healthcare ธีมดอกเบี้ยขาขึ้น และธีมปันผลสูง

ด้าน นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส  กล่าวว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การเลือกหลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากธีมการลงทุนไตรมาส 3/2565  ในช่วงที่น้ำมันดิบผันผวนด้านอุปทาน จากการแซงชั่นรัสเซีย กรณีสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้น้ำมันขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น PTTEP, PTT หุ้นโรงกลั่น เช่น BCP, TOP, ESSO, SPRC และหากน้ำมันลดราคาลง ตามเศรษฐกิจโลกชะลอจะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมที่นำน้ำมันหรือก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า Anti Commodity เช่นหุ้น SCC, BGRIM, GPSC, SCGP, CBG ,OSP, AAV, BA, EPG

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเป็นขาขึ้น หลักทรัพย์ได้ประโยชน์เป็นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KBANK, BBL, TTB ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบทางลบจะเกี่ยวกับการทำไฟแนนซ์ธุรกิจเช่าซื้อ เช่น KKP, TISCO, SAWAD, MTC

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังโดดเด่นด้านการฟื้นตัวจากการเปิดเมือง  โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน  หากการท่องเที่ยวไทยฟื้น จะสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ส่วนหุ้นได้รับผลดีจาการเปิดเมือง เช่น หุ้นสนามบิน AOT หุ้นสายการบิน AAV, BA หุ้นโรงแรม ERW, CENTEL, MINT, SHR  หุ้นศูนย์การค้า CPN, CRC  หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างประเทศ ได้แก่ BH, BDMS, BCH

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่  ด้านการลงทุนกลุ่มที่ดิน มีกิจกรรมการขาย &โอน เช่น กลุ่มการลงทุนมี AMATA, WHA, ROJNA กลุ่มอสังหาฯ มี AP, NOBLE, ORI, SC

“ผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่ปรับขึ้น ไม่จูงใจนักลงทุนต่างประเทศ  ให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาทจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไหลออกของ Fund Flow ขณะเดียวกันการที่ค่าเงินบาทอ่อนจะส่งผลดีต่อการส่งออกส่วนการนำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าที่ส่งผลกระทบวงกว้าง เช่น น้ำมัน เครื่องจักร” นายสมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบ ด้านอุปสงค์ลด และมีปัญหา Supply Chain Disruption แต่การส่งออกอาหารได้ประโยชน์จากราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น  และกลุ่มอาหารได้ประโยชน์จากภาวะสงคราม เช่น  ASIAN, CFRESH, GFPT, TU

“หากรัฐบาลกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า โครงการขนาดใหญ่ กลุ่มหลักทรัพย์ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะได้ประโยชน์ หุ้นเด่นคือ CK กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการ EEC กลุ่มนิคมก็จะได้ประโยชน์ ส่วนกรณีที่ภาครัฐแทรกแซงภาคเอกชน เพื่อบรรเทาภาระภาคประชาชน ช่วยพยุงราคาดีเซลในกองทุนน้ำมันติดลบถึงระดับแสนล้าน โดยขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันแบ่งกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมันราคาหุ้น TOP, ESSO, BCP, SPRC และโรงแยกก๊าซ PTT จึงมีความผันผวนสูง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นลงมารับข่าวส่วนหนึ่งไปแล้วก็ตาม” นายสมบัติกล่าว

นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า ภาพดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระยะกลาง มีความชัดเจนในโครงสร้างขาลงที่ไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางในช่วงเวลาอันใกล้นี้ได้ ดังนั้นจึงมีทิศทางการปรับตัวลงเป็นหลัก และหากจะมีการปรับขึ้นจะเป็นแค่การรีบาวน์ทางเทคนิคสั้นๆ แล้วลงต่อ

ส่วนภาพระยะสั้นดัชนีตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัวลงแรงกว่า 100 จุด แม้จะทำให้ดูเหมือนจูงใจให้เกิดแรงซื้อที่จะดึงให้ตลาดมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางกลับเป็นขาขึ้นได้ โดยอาศัยสัญญาณ Oversold หนุนแต่เมื่อประเมินจากภาพรวมแล้ว ตลาดน่าจะมีทิศทางปรับตัวลงก่อนแล้วจึงจะเปลี่ยนทิศทางตามมาได้โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 1500,1450 หรือ 1400 จุด

สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไรกรณีดัชนีสูงกว่า 1600 จุด ให้เน้นซื้อค่าบวกเพื่อลุ้นหรือรอขายที่แนวต้านระดับ 1620-1650 จุด แต่หากดัชนีต่ำกว่า 1600 จุด เน้นซื้ออ่อนตัวที่ 1500,1450 หรือ 1400 จุด เพื่อลุ้นและรอขายเมื่อมีการปรับขึ้น

นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) กล่าวว่า ไตรมาส 3/2565 หุ้นในกลุ่ม SET50 ในทางเทคนิคหากการขึ้นยังไม่สามารถยืนเหนือ 967-975 หรือ 995 ไม่ได้ให้ระวังกลับมา 930 และการหลุดต่ำกว่าจะปรับตัวลงต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 และสอดคล้องกับไตรมาสก่อนที่ประเมินว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการลงในระยะกลาง

สำหรับเชิงปัจจัยประเด็นหลักหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ลงจะเป็นความเสี่ยงให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก แต่มีข้อดีคือ ตอนนี้ตลาดพันธบัตรเริ่มรับรู้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 3.4-3.8% ในช่วง 2 ปีนี้แล้ว แต่ความเสี่ยงหลักไม่ใช่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เป็นเศรษฐกิจยุโรปและตลาดเกิดใหม่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด ราคาน้ำมันที่สูงค่าเงินที่อ่อนจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงเสี่ยงวิกฤต ซึ่งตลาดยังไม่ค่อยพูดถึงและรับรู้นัก

ส่วนราคาทองคำยังแกว่งตัวในกรอบ คาดว่าเป็นการแกว่งตัวในกรอบบน 1850/1880 และกรอบล่าง 1780/1750 ทองคำยังคงถูกกดดันจากเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ถึงแม้ว่าอาจจะมีแรงซื้อเข้ามาเป็นระยะ หากมีความเสี่ยงเรื่องสงคราม และเศรษฐกิจเข้ามาเป็นระยะ ขณะที่ค่าเงินบาท การขึ้นทดสอบ 35.8-36/36.5 จะยังไม่ผ่านในครั้งแรกที่ทดสอบ ระวังการพักฐานกลับมาแข็งค่าที่มีนัยสำคัญ หลังจบการประชุมเฟด 26-27 กรกฎาคม 2565

Back to top button