ศาลปกครอง ตัดสิน รฟม.แก้ TOR-ล้มประมูลสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลาง พิพากษา รฟม. แก้ TOR-ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟาก “สุรพงษ์” ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานการประมูล สร้างความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 10:30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างภารัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงวันที่ 3 ก.ค.63 และมติที่ได้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว และ ศาลฯให้เพิกถอนประกาศของ รฟม.เรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่รับคำของของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่ขอให้ศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ใช้เอกสารสำหรับการเลือกตั้งเอกชนฉบับใหม่ แล้วให้กลับไปคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์วิธีการตามเอกสารฉบับเดิม
ส่วนการที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.อ้างว่า ภายหลัง รฟม. ยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อเอกสาร RFP ทุกราย รวมทั้ง บมจ.ชิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่ยื่นข้อเสนอร่วมกับ BTSC ได้รับค่าธรรมเนียม RFP คืนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1-9 มี.ค.64 โดย รฟม.คืนชองเอกสารข้อเสนอ หลักประกันซอง ค่าธรรมเนียม การประเมินข้อเสนอและค่าธรรมเนียมการขายเอกสาร RFP ให้แก่เอกชนผู้ยื่นข้อเสนออีกราย คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รฟม.จึงไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 3 ก.ค.63 ได้อีกต่อไป
ประกอบกับ รฟม.ได้เริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนใหม่อีกครั้ง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยออกประกาศการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.64 เพื่อมาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนฯ นั้น
ศาลฯ เห็นว่าหากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม.เห็นว่ามีเหตุสมควรและมีความจำเป็นที่จะต้องมีมติและประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 63 และให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่มาตรา 6 ของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.ก็มีอำนาจจะมีมติและประกาศให้ยกเลิกการเชิญชวนการ่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.63 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวอีกครั้งภายใต้หลักเกณฑ์วิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) เปิดเผยภายหลังรับฟังศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ศาลให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้ก็เหลือคดีทางอาญาที่ศาลมีคำสั่งนัดในวันที่ 27 ก.ย.นี้ การตัดสินครั้งนี้เราก็ดีใจ เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานการประมูล เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะชนะหรือแพ้ แต่อยากให้การประมูลเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้”
ส่วนหลังจากนี้ ตามขั้นตอน รฟม.สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ขณะที่การประกวดราคารอบใหม่ ปัจจุบันบีทีเอสก็เข้าร่วมซื้อซองเอกสาร แต่ยอมรับว่าหลักเกณฑ์คัดเลือกด้านคุณสมบัติในการประมูลรอบใหม่นั้น แตกต่างจากเกณฑ์รอบแรกอย่างมาก ดังนั้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ ที่ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะต้องรอดูว่า รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้อย่างไร และใช้หลักเกณฑ์ใด
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางวันนี้ ชี้ให้เห็นว่าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในการประมูลครั้งแรกนั้นยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะคำสั่งยกเลิกประมูลไม่เป็นผล ซึ่งโดยปกติแล้วโครงการเดียวก็ต้องมีการประมูลในครั้งเดียว และใช้หลักเกณฑ์เดียว ดังนั้นการออกประมูลรอบใหม่ที่ รฟม.กำลังจะเปิดรับซองเอกสารจากเอกชนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอดูการพิจารณาจาก รฟม.อีกครั้ง เพราะถือว่าปัจจุบันการประมูลครั้งแรกยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะมีการคืนซองข้อเสนอของเอกชนไปบ้างแล้ว แต่ศาลฯ ก็ชี้ว่าการประมูลรอบใหม่ก็ยกเลิกได้