FSSIA จัดทัพ 9 หุ้นท็อปพิก เก็งกำไรโต-ปัจจัยบวกเฉพาะตัว
FSSIA จัดทัพ 9 หุ้นท็อปพิก เก็งกำไรโต พร้อมรับปัจจัยบวกเฉพาะตัว ปรับเป้า SET ปี 65 เหลือ 1,629 จุด จาก 1,854 จุด หลังมูลค่า PE ของตลาดลดลงจากความกังวลดอกเบี้ยขึ้น
นายทรงกลด วงศ์ไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และนายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ FSSIA ปรับเป้าหมาย SET Index ปี 65 ลงจาก 1,854 จุด เหลือ 1,629 จุด หลังมูลค่า PE ของตลาดลดลงจากความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย และ EPS ที่คาดว่าจะต่ำลงในปี 65 อย่างไรก็ตาม FSSIA ยังคงมองว่าหุ้นที่มีความสามารถในการกำหนดราคา ควบคุมต้นทุน และมีฐานผลิตในภูมิภาคจะมีความโดดเด่นในครึ่งปีหลังนี้
โดย FSSIA ระบุว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการคว่ำบาตรของประเทศฝั่งตะวันตกต่อรัสเซีย รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะเร่งลดงบดุล ซึ่งเป็นจุดบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยยอมให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะอันใกล้นี้ที่อาจนำไปสู่สภาวะถดถอยที่อาจเร็วขึ้นมาเป็นไตรมาส 4/65 หรือ ไตรมาส 1/66
ทั้งนี้ FSSIA คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะอยู่ที่ 4.0% ในสิ้นปีนี้ บ่งชี้ถึงการขึ้น 0.75% สองรอบคือในเดือน ก.ค. และ ก.ย. ก่อนจะปรับเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% อีกสองรอบในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. หลังจากนั้นคาดว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 4.5% ในปี 66 ก่อนจะลดลงเหลือ 3.5% ในปี 67
โดยฝ่ายวิเคราะห์ระบุว่ามีสามปัจจัยหลักในการดูหุ้นที่ดีในภาวะตลาดเช่นนี้ คือ 1) ความสามารถที่สูงในการกำหนดราคาจะเป็นจุดสำคัญที่ไม่ใช่จะแค่ช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาต้นทุนสูงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้มีมาร์จิ้นที่สูงขึ้นด้วยเช่นกันอันเป็นผลจากอุปทานที่ตึงตัว และ/หรือความต้องการที่สูง 2) การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยรับมือปัญหาราคาสูงขึ้นของ พลังงาน ปุ๋ย ข้าว และเหล็ก และ 3) ผู้ผลิตที่มีฐานผลิตในแต่ละประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการแยกตลาดท่ามกลางเทรนด์การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) ที่ทำให้ต้นทุนราคานำเข้าที่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้น
ด้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. FSSIA คาดว่าจะแข็งกร้าวขึ้นในครึ่งปีหลังปี 66 ถึงปี 66 จากมุมมองที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่นาน และในระดับที่สูง ผลักดันโดยราคาพลังงาน และอาหารที่ยังคงสูงอยู่ ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3% ในปีนี้ (ธปท. 3.3% ) และ 4.3% ในปี 66 (4.2%) บนพื้นฐานคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ $120/bbl ในปี 65 และ $110/bbl ในปี 66 ด้านเงินเฟ้อฝ่ายวิเคราะห์คาดไว้ที่ 6.5% ในปีนี้ (ธปท. 6.2%) และ 2.6% ในปี 66 (ธปท. 2.5%)
สำหรับปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือตัวเลขนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นที่ FSSIA คาดไว้ 8.5 ล้านคนในปี 65และ 34 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ จำนวนเที่ยวบินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และโควิด-19 ที่ผ่อนคลายความกังวลลงจะเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 65 และอาจขยายไปถึงการเติบโตที่สูงกว่าคาดในปี 66-67
ทั้งนี้ FSSIA ปรับเป้าหมาย SET Index ปี 65 ลงจาก 1,854 จุด เหลือ 1,629 จุด เพื่อสะท้อนถึง 1) การปรับมูลค่า SET Index ของ FSSIA จาก P/E ปี 65 ที่ 17.3 เท่า ของค่าเฉลี่ย 12 ปี ลงเหลือ 16.1 เท่า จากความเสี่ยงเงินเฟ้อสูง และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธปท.ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน 2) ฝ่ายวิเคราะห์ปรับลด EPS ลง 5.5% เหลือ 101 บาท ในปี 65 และลดลง 23% เหลือ 118 บาทในปี 66 โดยสาเหตุหลักมาจากการปรับลดกำไรของ SCC และ PTT
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ประเมินราคาเป้าหมายที่ 70 บาท โดย IVL เป็นหุ้นท็อปพิกในกลุ่มจากโมเมนตัมการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งซึ่งจะทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 65 ผลักดันโดยราคาพลังงานที่สูง การควบคุมต้นทุนที่ดี มีกลยุทธ์การเติบโต inorganic อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และที่สำคัญที่สุดก็คือฐานการผลิตในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดของเทรนด์การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และการหยุดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ประเมินราคาเป้าหมาย 18.8 บาท โดย BANPU ยังคงถือเป็นผู้ชนะที่ถูกตลาดมองข้ามในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จากมูลค่า P/E ปี 65 ที่ 5 เท่า ในขณะที่บริษัทมีโมเมนตัมการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง และชัดเจน ผลักดันโดยราคาถ่านหิน และก๊าซที่สูงขึ้น รวมถึง M&A ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) ในสหรัฐ
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ประเมินราคาเป้าหมายที่ 20 โดย SNNP เป็นหุ้นท็อปพิกของ FSSIA ในกลุ่มอาหารจาก 1) อาจมีอัพไซด์จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาร์จิ้นที่กว้างขึ้นจากความสามารถการควบคุมต้นทุนที่ยอดเยี่ยม และจากความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่อย่างบุญรอดเทรดดิ้ง 2) มีศักยภาพการเติบโตของรายได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศจากความต้องการที่ฟื้นตัว และผลิตภัณฑ์ใหม่ 3) เริ่มเดินเครื่องโรงงานผลิตใหม่ที่เวียดนาม และ 4) การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในไตรมาสที่หนึ่งประสบความสำเร็จ
บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ประเมินราคาเป้าหมายที่ 24.7 บาท โดย ASIAN เป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มเติมขึ้นมาจากธุรกิจหลักอย่างอาหารทะเลแช่แข็ง ทั้งนี้ ความสำเร็จของบริษัทที่ผันตัวมาเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำ จะช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรได้ในปี 2022-24
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ประเมินราคาเป้าหมาย 31 บาท โดยเชื่อว่า BDMS จะได้รับประโยชน์จากอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power) ทำให้มีค่าบริการที่สูงขึ้นเพื่อผลักดัน EBITDA มาร์จิ้นให้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด นำโดยอัตราการใช้งานที่สูง FSSIA คาดว่า BDMS จะมีการเติบโตรายได้ที่แข็งแกร่ง และคาดจะมีอัตราการใช้งานที่สูงในระดับ 70% ในปี 65 (จาก 67% ในปี 62) ด้าน EBITDA margin คาดอยู่ที่ 24% ในปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 64 และ 22% ในปี 62
โดยรวมแล้ว FSSIA คาดว่ากำไรหลักของ BDMS ในปี 65 จะกลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิดที่ 1.01 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 31% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยมีอัพไซด์จากสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ และ EBIDTA margin ที่สูงกว่าคาด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประเมินราคาเป้าหมายที่ 180 บาท จากการทำพันธมิตรกับ JMT ทำให้ FSSIA มองว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบดุลของ KBANK ในระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงจาก NPL หลังมีการผ่อนคลายมาตรการการกู้เงินที่จะสิ้นสุดในปี 66 และยังเปิดทางให้กับ KBANK ได้รับประโยชน์ในอนาคตจากการเก็บหนี้เสียของ JMT ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ได้มากกว่าการบริหาร NPL เองจากการประมูล
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ประเมินราคาเป้าหมายที่ 45 บาท โดยมองว่าธุรกิจโรงแรมในยุโรปอยู่ระหว่างการฟื้นตัวในไตรมาส 2/65 โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 20% ในเดือนมกราคม 65 ขึ้นเป็น 60% ในเดือนเมษายน และมีโอกาสที่จะแตะระดับก่อนโควิดที่ 75% ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ทั้งนี้ FSSIA คาดว่า ADR จะแตะระดับก่อนโควิดที่ EUR110 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกจากความต้องการที่อัดอั้นในภาคการท่องเที่ยว
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ประเมินราคาเป้าหมาย 85 บาท โดย CPN มีการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง และชัดเจนจากสามปัจจัยหลักคือ 1) กำไรที่สูงขึ้นจากค่าเช่าที่ และการเปิดห้างใหม่ 2) การได้มาในหุ้นของ SF ในเดือน พ.ค. 65 และอัพไซด์กำไรจากธุรกิจโรงแรม และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยจากการถือหุ้นใน Dusit Central Park
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ประเมินราคาเป้าหมาย 24 บาท โดยคาดว่า MAJOR จะมีกำไรที่แข็งแกร่งนับจากไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ซึ่งหนังฟอร์มยักษ์เริ่มเข้าฉายในโรงหนังตั้งแต่ไตรมาส 2 หลังมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย และยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลง ทั้งนี้ FSSIA ระบุว่า MAJOR เป็นหุ้นปันผลที่จะจ่ายปันผล 90% ของกำไรสุทธิ คิดเป็น 4-6% ของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปี นอกจากนั้นแล้ว MAJOR ยังมีการเข้าลงทุนกับพันธมิตรทางกลยุทธ์อย่าง TKN และ WORK อีกด้วยเช่นกัน