“หุ้นเอเชีย” เปิดผันผวน กังวล “ดอกเบี้ยขาขึ้น” หลังจ้างงานสหรัฐแกร่ง

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดผันผวน นักลงุทนกังวลเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง หลังตัวเลขจ้างงาน “สหรัฐ” แข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวน โดยนักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวังเนื่องจากกังวลว่าตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้

สำหรับดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,892.73 จุด พุ่งขึ้น 375.54 จุด หรือ +1.41%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,470.77 จุด ลดลง 255.01 จุด หรือ -1.17% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,341.10 จุด ลดลง 14.98 จุด หรือ -0.44%

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐพุ่งขึ้น 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 250,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.3%

ทั้งนี้ บรรดานักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวล โดยทำการพิจารณาข้อมูลและความคิดเห็นใหม่ๆ จากบรรดาผู้ว่าการเฟดเพื่อดูว่า อาจจะส่งผลต่อแผนการของเฟดอย่างไรในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก

ขณะที่นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงข้อมูลเงินเฟ้อที่จะเปิดเผยในสัปดาห์หน้าเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เปิดเผยช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่า CPI จะขยายตัว 2.4%

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 6.1% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอลงหลังจากเพิ่มขึ้น 6.4% ในเดือนพ.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 6.0%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน โดยในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.65 จีนจะเปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2565, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนมิ.ย. และอัตราว่างงานเดือนมิ.ย.

Back to top button