KBANK รุกแสนล้าน พลิกโฉมดิจิทัล ขยายโอกาสเข้าถึงบริการครบวงจร
KBANK เดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนลบ. เร่งลงทุน-ซื้อกิจการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี พลิกโฉมดิจิทัล มุ่งขยายโอกาสเข้าถึงบริการ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประกาศโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาท มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคาร ให้กับคนไทย และคนที่มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ประกอบไปด้วยการเร่งลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ การซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ การยกระดับองค์กรไปอีกขั้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับประชาชนในสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสิ่งที่มุ่งหวังจากการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี คือการพลิกโฉมการธนาคารในประเทศไทยให้สามารถช่วยผู้คนให้เข้ามาอยู่ในระบบธนาคาร และให้ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคาร
“ทุกวันนี้ เราเป็นธนาคารที่มีจุดแข็งไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว รวมทั้งมีความมั่นคง และเชื่อถือได้ และมีความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มตามแบบฉบับของธนาคารในปัจจุบัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ คือการหลอมรวมเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และเริ่มเข้ามาดิสรัปต์การเงินการธนาคาร ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธนาคารกสิกรไทยด้วย” นางสาวขัตติยา กล่าว
โดยชาเลนเจอร์แบงก์ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการธนาคารในระดับโลก ซึ่งท้าทายธนาคารแบบปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ชาเลนเจอร์แบงก์ยังดึงดูดลูกค้าของธนาคารในปัจจุบัน ให้มาใช้บริการชาเลนเจอร์แบงก์ โดยกำจัดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน มอบการให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา
“ตอนนี้ ธนาคารกสิกรไทยกำลังมองตัวเองว่า เราเป็นธนาคารที่มีความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยการนำเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาผสานในการให้บริการของเรา เรามุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารที่เกื้อหนุน ส่งพลังให้กับผู้คนให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินและคำแนะนำของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น”
“เราต้องการให้สินเชื่ออย่างกว้างขวางขึ้น โดยที่ผู้กู้ที่กล่าวถึงข้างต้นไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมาค้ำประกัน และให้กู้โดยอยู่บนพื้นฐานการประเมินความสามารถ และความตั้งใจที่จะชำระคืนเงินของผู้กู้ เราต้องการที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ลูกค้าสามารถสมัครขอสินเชื่อได้จากที่บ้านหรือที่ทำงานของตัวเอง เราต้องการกำจัดขั้นตอนและงานเอกสารต่างๆ ทำให้ทุกอย่างเรียบง่าย และเร็วที่สุด” นางสาวขัตติยา กล่าว
สำหรับปีนี้และในช่วงอีกสองปีข้างหน้า ธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาทในระบบต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาทตลอดสองปีที่ผ่านมา
โดยในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ ธนาคารคาดว่าจะปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือในเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 2-5 ดีล โดยใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท
“การลงทุนเหล่านี้ จะเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารกสิกรไทยขึ้นอีกมาก และจะทำให้เราสามารถเดินหน้าสานต่อภารกิจให้บรรลุผลสำเร็จในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงการผสานเอาดีเอ็นเอของความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้าไปในองค์กรของเรา” นางสาวขัตติยา กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยได้ริเริ่มทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการแบบใหม่ๆ มาใช้แล้วมากมายหลายอย่าง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์นี้อย่างเต็มกำลัง
โดยประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านทางออนไลน์ ได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตน โดยผู้ที่มีบัญชีกับธนาคาร สามารถสมัครขอสินเชื่อบุคคล รอการพิจารณา และหากได้รับการอนุมัติ เงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชี ภายในไม่ถึง 30 นาที
ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ที่ได้ใช้วิธีการดังกล่าวไป ธนาคารกสิกรไทยอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาทในบางราย
“เราเป็นธนาคารเดียวที่ทำแบบนี้ และเป็นความตั้งใจอย่างมากที่ได้ให้สินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อใดๆ จากธนาคารใดเลยมาก่อน และอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบ ดังนั้น สินเชื่อก้อนเล็กๆ ก้อนแรกนี้ จะกลายเป็นสะพานเชื่อมพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าสู่ระบบธนาคาร และเมื่อคนกลุ่มนี้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นในการบริหารและชำระคืนเงินกู้ที่ได้มา ก็จะค่อยๆ ได้รับการขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามความสามารถในการชำระคืน รวมถึงสามารถต่อยอดไปใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารที่มีความเฉพาะทางมากขึ้นในอนาคต” นางสาวขัตติยา กล่าว
อีกทั้งธนาคารกสิกรไทย ยังได้นำร่องทดลองวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้การขอสินเชื่อเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการผสานเอาความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาในองค์กรของเรา
“เราเป็นธนาคารแห่งแรกที่เข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ และให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ โดยไม่ต้องใช้เอกสารต่างๆ ดังที่กล่าว แต่เราใช้วิธีการสัมภาษณ์ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการประเมิน ซึ่งเราคาดหวังว่าจะขยายโครงการแบบนี้ไปให้มากกว่าเฟสเริ่มต้น โดยเร็วที่สุด” นางสาวขัตติยา กล่าว
ขณะที่อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และรวมไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ คือไม่มีเวลาไปติดต่อใช้บริการที่สาขาธนาคาร หรืออาจจะรู้สึกไม่สบายใจนักที่จะเข้าไปติดต่อขอใช้บริการ
“เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบธนาคารง่ายขึ้น เราได้ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน LINE โดยในปัจจุบัน เราเป็นธนาคารเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการธนาคารผ่านโซเชียลมีเดีย แม้ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ LINE BK ของเราก็เปิดโอกาสให้เขาสมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที
บริการ LINE BK ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้คนในวงกว้างมากขึ้นสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ แม้ไม่มีเอกสารประกอบการสมัคร เช่น เอกสารแสดงรายได้ โดยเราจะพิจารณาสินเชื่อโดยอาศัยเพียงอัลกอริทึมและข้อมูลประกอบที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของผู้ขอสินเชื่ออยู่แล้ว โดยได้รับการอนุญาตจากผู้ขอสินเชื่อก่อน”
ทั้งนี้จากฐานข้อมูลในปัจจุบันของเรา พบว่าในจำนวนผู้ขอสินเชื่อผ่านบริการ LINE BK ในแอปพลิเคชัน LINE ทั้งหมด มีถึงหนึ่งในสามเป็นผู้ที่เพิ่งเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิต เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน และเกือบ 80% อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด
“เราคาดหวังว่า ภายในสิ้นปีนี้ เราจะช่วยคนอีกถึง 200,000 คน ผ่านบริการ LINE BK ให้ได้รับสินเชื่อครั้งแรกจากธนาคาร และด้วยบริการ LINE BK นี้ เราคาดว่า จะมีลูกค้ารายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดเล็กได้รับสินเชื่อจำนวนกว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้หลายคนเป็นอิสระจากเงินกู้เงินนอกระบบได้”
นอกจากนั้นธนาคารกสิกรไทยยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก เพื่อนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านค้าดังกล่าวอีกด้วย
“ด้วยการประเมินความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อของร้านค้า และลูกค้าของร้านค้าเหล่านั้น โดยใช้วิธีการแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และการทำให้ขั้นตอนต่างๆ เรียบง่ายขึ้น เราตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ เราจะสามารถขยายจำนวนร้านค้าที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในต่างจังหวัด ได้มากกว่าพันๆ ร้านค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตรของเรา ซึ่งจะทำให้เราเดินหน้าเข้าใกล้เป้าหมายของเราในการช่วยให้ประชาชนในชุมชนขนาดเล็กทั่วประเทศเข้าถึงบริการของธนาคาร” นางสาวขัตติยา กล่าวปิดท้าย