สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ก.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 ก.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน และโกลด์แมน แซคส์ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพุธนี้ เพื่อประเมินทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,173.84 จุด ลดลง 164.31 จุด หรือ -0.52%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,854.43 จุด ลดลง 44.95 จุด หรือ -1.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,372.60 จุด ร่วงลง 262.71 จุด หรือ -2.26%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันจันทร์ (11 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับปริมาณพลังงานที่ตึงตัวในยุโรป และการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19 ในจีน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งถ่วงหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 415.02 จุด ลดลง 2.10 จุด หรือ -0.50%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,996.30 จุด ลดลง 36.83 จุด หรือ -0.61%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,832.44 จุด ลดลง 182.79 จุด หรือ -1.40% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,196.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.35 จุด หรือ +0.001%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดทรงตัวในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าและการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มปลอดภัยได้ช่วยหนุนตลาด แต่ความวิตกเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหม่ในจีน ซึ่งถ่วงหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง และวิกฤตพลังงานในยุโรปก็ยังคงกดดันตลาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,196.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.35 จุด หรือ +0.001%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังวิตกว่าจีนอาจกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมันในประเทศ นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 104.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 8 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 107.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 เดือนในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 108 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 10.6 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 1,731.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 10.4 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 19.132 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 22.1 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 860.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 15 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,171.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ระดับ 108.0220 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0178 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1896 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2024 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6745 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6851 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.28 เยน จากระดับ 136.18 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9799 ฟรังก์ จากระดับ 0.9773 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2957 ดอลลาร์แคนาดา