GUNKUL เซ็นเอ็มโอยู SAPPE ซื้อขายสินค้ากัญชงกัญชา พร้อมขยายตลาดไทย-ต่างประเทศ

GUNKUL ผนึกกำลัง SAPPE เซ็น MOU ซื้อขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพืชกัญชากัญชง รุกขยายตลาดไทย-ต่างประเทศ เล็งแตกไลน์ธุรกิจใหม่ มั่นใจสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้ทั้งสองฝ่าย


นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ บริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ในการจะซื้อจะขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพืชกัญชากัญชง เพื่อขยายตลาดสินค้ากัญชากัญชงของไทย โดยจะเริ่มทำตลาดในประเทศ แล้วขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของทั้ง 2 บริษัทในการกำลังเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้ทั้งสองฝ่าย สอดคล้องนโยบายภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการผลักดันกัญชากัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย และสามารถนำประโยชน์จากพืชกัญชากัญชง มาใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยจุดแข็งของ SAPPE ในการเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มนวัตกรรมชั้นนำของเมืองไทย มีความเชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดและการขาย มีพันธมิตรและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง คาดว่าจะสามารถนำวัตถุดิบและสารสกัดจากกัญชากัญชง ที่ถูกเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจาก GUNKUL มาจำหน่ายต่อได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาตลาด เบื้องต้นจะเริ่มต้นดำเนินการในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งอุปโภคและบริโภค เพื่อมุ่งหวังนำเสนอทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชากัญชง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ภายใต้คุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ทั้งในไทยและในแต่ละประเทศเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกในอนาคต

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มองเห็นศักยภาพของการเติบโตในอนาคตหลังจากภาครัฐมีนโยบายผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ถือเป็นหนึ่งในโอกาสใหม่ทางธุรกิจ จึงได้แตกส่วนงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ ในการต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเดิมที่มี และได้เริ่มต้นความร่วมมือกับกันกุล เพื่อดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น

ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่าง SAPPE และ GUNKUL เป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ด้วยจุดแข็งของเราคือการขายการตลาดและเครือข่ายพันธมิตร คู่ค้า-ลูกค้าที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ทำให้ SAPPE มีศักยภาพและมองเห็นโอกาส โดยจะเริ่มตลาดในประเทศก่อนแล้วต่อยอดไปสู่ต่างประเทศต่อไป ซึ่งเราจะช่วยหาลูกค้าเพื่อกระจายวัตถุดิบและสารสกัดจากกัญชากัญชงคุณภาพที่ถูกเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างโอกาสและมาตรฐานที่ดีในอุตสาหกรรมกัญชากัญชงต่อไป” นางสาวปิยจิต กล่าว

ด้านนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร GUNKUL กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่สามารถปลดล็อกกัญชากัญชงได้สำเร็จ และสามารถผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ทำให้ภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็กต่างพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจากรูปแบบการปลูกของบริษัทฯ ที่เป็นระบบโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน เป็นพื้นที่เพาะปลูกของบริษัทฯ เอง

ส่วนการปลูกก็เป็นแบบ Hydroponics ใช้น้ำ RO (Reverse Osmosis) การปลูกในวัสดุปลูกดินเผา การเพาะในโรงเรือนแบบกึ่งปิด ทำให้มั่นใจได้ว่ากัญชา กัญชงที่ GUNKUL เพาะปลูกมีคุณภาพและมาตรฐานสูงมากพอสำหรับนำไปทำสารสกัด รวมถึงเพื่อใช้การทางการแพทย์  จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้า

การร่วมมือระหว่าง SAPPE และ GUNKUL ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อช่วยตอบความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ ผ่านการคิดค้นพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่นำคุณประโยชน์ของกัญชง-กัญชามาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยขยายธุรกิจไปสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตได้เป็นอย่างดี  และตอบโจทย์ความต้องการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

โดยสารสกัดจากกัญชงไปเป็นวัตถุดิบและสารตั้งต้น เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์  ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิต ยกระดับขีดความาสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทยบนเวทีตลาดโลก  นับเป็นโอกาสของ GUNKUL ในการเพิ่มช่องทางในการขยายธุรกิจและสร้างฐานรายได้เพิ่ม โดยบริษัทฯ จะเน้นสร้างการเติบโตไปพร้อมๆ กับกลุ่มพันธมิตรที่ได้ร่วมกันต่อยอดธุรกิจกัญชง และกัญชา” นางสาวโศภชา กล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงสกัดสาร CBD มีจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี เพื่อผลิตสนค้าในหมวดเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร  ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 กิโลกรัมต่อวัน (ดอกแห้ง)  ส่วนพื้นที่เพาะปลูกกัญชงมีจำนวน  15 ไร่ บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และมีโรงเรือนเพาะปลูกจำนวน 13 โรงเรือน ซึ่งมีแผนขยายเป็น 35 โรงเรือน บนพื้นที่ 60 ไร่ ภายในสิ้นปี 2565

Back to top button