ครม.เคาะพันล้าน! เยียวยาเกษตรกร กระทบ “ลัมปีสกิน-อหิวาต์หมู” ระบาด

ครม. อนุมัติงบกลางกว่า 1 พันลบ. ชดเชยเกษตรกร หลังได้รับผลกระทบโรคระบาด ASF และโรคโรคลัมปีสกินระบาด


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า วงเงิน 753.05 ล้านบาท สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกร และค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย และจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกินจำนวน 6.3 ล้านโดส และค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ในการฉีดวัคซีน จำนวน 231.95 ล้านบาท และเยียวยาเกษตรกรกรณีโค-กระบือ ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่ มี.ค. 64 – 30 เม.ย. 65 จำนวน 203.10 ล้านบาท

1.กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรและค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย วงเงิน 753.05 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายที่ยังคงค้างชำระ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ 16 ต.ค. 64 – 31 มี.ค. 65 ในพื้นที่ 45 จังหวัด เพิ่มเติมที่ตกค้าง 165 ราย รวมเกษตรกร 2,655 ราย เป็นเงิน 231.34 ล้านบาท

(2) จำนวนสุกรที่ตกค้าง 5,009 ตัว รวม 65,076 ตัว คิดเป็นเงิน 18.61 ล้านบาท

(3) ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามแผนลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ในปี งบประมาณ 65 ในอัตรา 3% ของฟาร์ม ของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-รายเล็ก ซึ่งมีประมาณ 100,000 ราย คิดเป็น จำนวนเกษตรกร 3,000 ราย จำนวน สุกร 60,000 ตัว จำนวนเงิน 402.30 ล้านบาท

(4) ค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย (อาหารสัตว์) จำนวงเงิน 100.80 ล้านบาท

2.กรณีโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงินรวม 435.05 จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย

(1) จัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 6.3 ล้านโดส และค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ในการฉีดวัคซีน จำนวนเงิน 231.95 ล้านบาท

(2) ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีโค-กระบือ ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.64 – 30 เม.ย.65 สำหรับเกษตรกรจำนวน 9,789 ราย จำนวนโค กระบือรวม 11,422 ตัว จำนวนเงิน 203.10 ล้านบาท

โดยปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมีโค-กระบือ ป่วยตายจากโรคลัมปีสกินแล้วตามระเบียบกระทรวงการคลัง เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือเยียวยาแล้วจำนวน 52,170 ราย วงเงิน 1,212.72 ล้านบาท

สำหรับที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะก่อนเผชิญเหตุระยะเผชิญเหตุ และหลังเผชิญเหตุ ประกอบด้วย 8 มาตรการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การจัดการฟื้นฟูเกษตรกร เป็นต้น

Back to top button