WTI ปิดดิ่ง 8% หลุด 96 เหรียญ วิตกจีนล็อกดาวน์-ดอลล์แข็งฉุดตลาด
WTI ปิดดิ่ง 8% หลุด 96 เหรียญ วิตกจีนล็อกดาวน์-ดอลล์แข็งฉุดตลาด โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วง 8.25 ดอลลาร์ หรือ 7.9% ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์/บาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันอังคาร (12 ก.ค.) ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ดิ่งหลุดระดับ 100 ดอลลาร์ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และผลกระทบจากการที่จีนออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 8.25 ดอลลาร์ หรือ 7.9% ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2565
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 7.61 ดอลลาร์ หรือ 7.1% ปิดที่ 99.49 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2565
สัญญาน้ำมันดิบได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% แตะที่ 108.0720 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น
นอกจากนี้ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันในจีนอาจชะลอตัวลง หลังจากทางการจีนออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยล่าสุดจีนสั่งล็อกดาวน์เมืองหวู่กังซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเหล็กในมณฑลเหอหนานเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. โดยเมืองหวู่กังมีประชากรประมาณ 300,000 คน และเป็นที่ตั้งของบริษัทหวู่กัง ไอรอน แอนด์ สตีล
อีกทั้งนักลงทุนยังกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 8.8% สูงกว่าระดับ 8.6% ของเดือนพ.ค.
ด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.ค.เมื่อวานนี้ โดยคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า ซึ่งได้แรงหนุนจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี โอเปกเตือนว่าอุปสงค์น้ำมันยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง ซึ่งได้แก่ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตี อินไซท์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ค.