NOK มุ่งสู่ “พรีเมี่ยมแอร์ไลน์” ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ 6 ล้านคน
NOK ตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้ 6 ล้านคน พร้อมรุกสู่ “พรีเมี่ยมแอร์ไลน์” จ่อเปิดเลาจน์ภายในสนามบินขนาด 250 ตร.ม. ช่วงไตรมาส 4/65 รองรับกลุ่มลูกค้า corporate และ Nok Extra อีกทั้งอยู่ระหว่างดีลพันธมิตรเสิร์ฟขนม-ของว่างผู้โดยสาร หลัง กพท. อนุญาตเสิร์ฟอาหารบนเครื่องได้
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ในปี 65 บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร 6 ล้านคน หลังจากในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีจำนวนผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน โดยในปี 61-62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสาร 8.86 และ 8.25 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเครื่องบิน 24 ลำ ส่วนปี 63 มีจำนวนผู้โดยสาร 4.19 ล้านคน (เกิดโควิด)
โดยในช่วง 6 เดือนแรก NOK มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 70% โดยในเดือนพ.ค.-มิ.ย.65 Cabing Factor เฉลี่ย 80-85% ทำให้คาดว่าในครึ่งหลังปีนี้ Cabin Factor เฉลี่ยน 80% ขึ้นไป ซึ่ง 2 เดือนหน้า (ส.ค.-ก.ย.) เป็นช่วงโลว์ซีซั่น Cabin Factor น่าจะอยู่กว่า 70% นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ก็จัดโปรโมชั่น แจกเบนซ์ทองและตั๋วเดินทางในประเทศเพื่อกระตุ้นตลาด ซึ่งปัจจุบันเส้นทางในประเทศเปิดครบทุกเส้นทาง เพียงแต่ยังเปิดไม่ครบ 100% ความถี่การบินไม่เท่ากับปี 62 เพราะยังต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่ง Traffic ปัจจุบันยังไม่ถึง 50% ของปี 62
อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 65 และในปี 66 บริษัทจะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่มจำนวน 6 ลำ จากปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีจำนวนเครื่องบิน 17 ลำ เป็น B737-800 จำนวน 14 ลำ และเครื่องใบพัด Q400 จำนวน 3 ลำ เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินในต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เมียนมา และ เวียดนาม ซึ่งมองว่าดีมานด์หรือความต้องการเดินทางกำลังกลับมาและคาดว่าจะมากกว่าเดิม หลังจากที่เห็นดีมานด์ขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป และสหรัฐฯ
ขณะที่ในประเทศการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวในไทย และสนับสนุนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย
นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า การรับเครื่องบินใหม่เข้ามาในปีนี้และปีหน้าจะช่วยบริษัทลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้โดยสารพร้อมเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก โดยปัจจุบันนกแอร์อยู่ระหว่างพิจารณาขยายฐานการบินไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะเห็นว่าหากไปตั้งฐานการบินจะช่วยเชื่อมต่อการบินได้สะดวก (Connecting Flight) และที่สนามบินสุวรรณภูมิมีการแข่งขันราคาต่ำกว่าสนามบินดอนเมือง นอกจากนี้ จากเหตุการระบาดโควิดทำให้บางสายการบินลดขนาดฝูงยิน ทำให้ slot ในช่วงเวลาดีๆอยู่มาก ก็มีโอกาสเข้าไปแทนที่ นอกเหนือจากนั้น ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
รวมถึงการเพิ่มโอกาสธุรกิจได้ ซึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ สายการบินเวียตเจ็ท และสายการบินไทยสมายล์ ยังไม่มีเส้นทางบินไปชุมพร สกลนคร และระนอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังปี 65 ก็ยังมีความท้าทายหลายด้าน อาทิ เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ที่เป็นสัดส่วนต้นทุนเพิ่มเป็น 50% จากก่อนหน้ามีสัดส่วน 40% ของต้นทุนรวม และราคาน้ำมัน สถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน
ส่วนที่เป็นปัจจัยบวกที่มาจากภาครัฐที่มีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว นโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งล่าสุดก็ต่ออายุไปถึงสิ้นปี 65 ทำให้บริษัทประหยัดได้ราว 500-600 ล้านบาท
ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์มุ่งเป็น พรีเมี่ยมแอร์ไลน์ โดยในไตรมาส 4/65 ก็เตรียมเปิดเลาจน์ภายในสนามบินขนาด 250 ตร.ม.รองรับกลุ่มลูกค้า corporate และลูกค้า Nok Extra นอกจากนี้ จากที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุญาตให้สายการบินสามารถเสิร์ฟอาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้แล้ว นกแอร์อยู่ระหว่างดีลกับพันธมิตรที่จะเสิร์ฟขนมหรือของว่างให้กับผู้โดยสารบนเครื่องด้วย
พร้อมคาดว่าในปี 67 บริษัทจะมีกำไรตามการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน และได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ