แบงก์ชาติเมียนมา สั่งธุรกิจ-ผู้กู้รายย่อย หยุดชำระหนี้ตปท. โบรกยัน “รพ.-PTTEP” ไม่กระทบ
“ธนาคารกลางเมียนมา” ออกคำสั่งให้ธนาคารที่ได้รับอนุญาต แจ้งลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง ฟากบล.กสิกรไทย มองกลุ่มโรงพยาบาลกระทบจำกัด-PTTEP ไม่กระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงาน อ้างอิงข้อมูลบลูมเบิร์กว่า ธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยให้ระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศไว้ก่อน โดยในจดหมายที่ธนาคารกลางส่งถึงธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ระบุให้แบงก์และลูกค้าระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้จากต่างประเทศ
คำสั่งดังกล่าว เป็นสถานการณ์ล่าสุดที่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศคำสั่งออกมา ตามมาตรการปกป้องทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง
นายวิน ทอ รองผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา ระบุว่า ในจดหมายที่ส่งถึงธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการซื้อขายเงินต่างประเทศ ให้ระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศ ที่ได้รับทั้งในรูปเงินสดและที่คล้ายเป็นเงินสด
อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวยังระบุให้ธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตต้องแจ้งแก่ลูกค้าที่มีหนี้ต่างประเทศให้ปรับตารางการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า มีข้อมูลชี้ว่า บริษัทต่างประเทศในเมียนมามีเงินกู้ยืมในสกุลต่างประเทศอย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 42,000 ล้านบาท)
โดยในหนี้ต่างประเทศเหล่านี้ เป็นหนี้เงินกู้ของธุรกิจต่างๆ เช่น บริษัท ออเรดู เมียนมา จำกัด (Ooredoo Myanmar) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโทรคมนาคม , บริษัท ซิตี้ สแควร์ คอมเมิร์ชเชียล จำกัด (City Square Commercial) ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์, บริษัท อพอลโล ทาวเวอร์ เมียนมา จำกัด (Apollo Towers Myanmar) และ บริษัท อิราวดี กรีน ทาวเวอร์ จำกัด (Irrawaddy Green Towers) ซึ่ง 2 บริษัท หลังนี้ทำกิจการโครงข่ายเสาโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจของรัฐบาลทหาร เมียนมาเข้มงวดกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากค่าเงินจ๊าตเทียบดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงไปถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร เนื่องจากเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองของเมียนมา ซึ่งเก็บไว้ที่สหรัฐฯ ถูกระงับการเบิกถอน รวมถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ จากต่างประเทศก็ถูกระงับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตร ทั้งที่ เป็น 2 แหล่งหลักที่ซัพพลายเงินตราต่างประเทศให้เมียนมามาก่อน
กำหนดอัตราอ้างอิงแลกเงินคงที 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์
บลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลมีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าต (สกุลเงินท้องถิ่น) ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาล เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันประกอบอาหาร เพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้ว่า รัฐบาลจะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาท เพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม
ขณะที่ บล.กสิกรไทย ระบุว่า จากรณีธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้ธนาคารที่ได้รับอนุญาต แจ้งลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง และมีคำสั่งห้ามการนำเข้ารถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยทุกชนิด การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันประกอบอาหารอย่างเข้มงวด
โดยทางฝ่ายวิจัยแนะนำติดตามรายละเอียดสินค้านำเข้าประเภทอื่นๆ โดยจากรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น Sector และบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากพม่าประเมินผล
กลุ่มโรงพยาบาล พบว่า ผลกระทบจำกัดมาก เนื่องจากผู้ป่วนชาวพม่าที่เข้ารักษาในไทยมักจะมีการนำเงินสดจ๊าตเข้ามาชำระ แต่อาจจะกระทบในแง่ของ Traffic การเดินทาง
กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP มีสัดส่วนรายได้ในพม่าราว 10%
นอกจากนี้ บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาราว 75% ของช่องทางการจัดจำหน่ายโดยรวม 35%
รวมทั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP พบว่าไม่กระทบ โดยธุรกิจเป็น operation ที่ Zawtika และ Yadana ซึ่งรับรายได้จากผู้ซื้อคือ PTT จ่ายให้ PTTEP โดยตรงบนบัญชีในไทย ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินจ๊าต เปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าร์เข้าไปเป็นครั้งๆ โดยมีสัดส่วนๆไม่มาก