การต่อสู้ครั้งใหญ่ของ “ชาวพหลฯ11”…พลิกชุมชนแออัด(ส่อผิดกฎหมาย) สู่ “อาคารธนารักษ์ 4 ชั้น”

กว่าจะเป็น! อาคาร สนง.กองประเมินราคาทรัพย์สิน 4 ชั้น ได้ฤกษ์เปิดเป็นทางการ 18 ก.ค. 65 กับการต่อสู้ของคน "ชุมชนอนุรักษ์พญาไท"


อาคารสำนักงานกองประเมินราคาทรัพย์สิน และกองมาตรฐานการประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณ ซอยพหลโยธิน 11 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานประหยัดพลังงาน โดยมีความสูงเพียง 4 ชั้น รวมอาคารจอดรถ ได้ฤกษ์ที่กรมธนารักษ์เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันนี้ (18 กรกฎาคม 2565) พร้อมย้ายที่ทำการของสำนักงานฯ มาจากอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นอาคารสำนักงานของกรมธนารักษ์ที่มีเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้านที่รู้จักกันในชื่อ “ชุมชนอนุรักษ์พญาไท”

ทั้งนี้ หากจำกันได้พื้นที่ของกรมธนารักษ์บริเวณซอยพหลโยธิน 11 ในปี 2559 ได้เคยถูกผลักดันให้เกิดเมกะโปรเจคด้านที่อยู่อาศัยในชื่อโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งอาคารสูง 8 ชั้น 2 อาคาร 432 หน่วย พื้นที่ใช้สอยห้องละ 25 ตารางเมตรเพื่อให้ข้าราชการมาเช่าอยู่ในราคาถูก โดยบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด ชนะประมูลไป

แต่ปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการมีปัญหาคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ เพราะกังวลเรื่องปัญหาจราจร และจากผลการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ยังพบว่าโครงการดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบด้านการจราจรในพื้นที่ หากเอกชนทำต่อต้องลดขนาดพื้นที่โครงการลง เพิ่มพื้นที่จอดรถมากขึ้น แต่เอกชนแจ้งมาแล้วว่าไม่สามารถปรับแบบได้ จึงเป็นที่มาของการยกเลิกโครงการดังกล่าว

ขณะเดียวกันกลุ่ม “ชุมชนอนุรักษ์พญาไท” ได้รวบรวมเอกสาร ยื่นต่อกรมธนารักษ์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้มีการตรวจสอบกรณีที่ก่อนหน้านี้ บริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่นยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ได้ขอโอนสิทธิการบริหารจัดการโครงการ ทั้งงานก่อสร้างและบริหารโครงการไปให้บริษัท จูโน่ พาร์ค ทำหน้าที่แทน

อีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจูโน่ พาร์ค ซึ่งอาจผิดต่อข้อกำหนดทางกฎหมาย เนื่องจากบริษัทจูโน่ฯไม่เคยมีผลงานการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนตามที่ทีโออาร์กำหนด แต่สามารถเข้ามารับโอนสิทธิการก่อสร้าง-สิทธิการเช่าได้

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ถูกขึ้นบัญชีผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลง หรือผู้ทิ้งงานระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลกิจการของบริษัท จูโน่ พาร์ค อีกด้วย

กระทั่ง การต่อสู้ของชุมชนได้รับการตอบสนอง และได้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2560 โดยปรับมาเป็นการสร้างอาคารสำนักงานกองประเมินราคาทรัพย์สิน และกองมาตรฐานการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งมีการพูดคุยและสอบถามความเห็นกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อปรับรูปแบบโครงการให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่จนท้ายที่สุดก็ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

Back to top button