“เงินบาท” เปิดอ่อนค่า 36.68 บ. รับแรงกดดัน “ดอลล์” แข็ง วิตกเศรษฐกิจชะลอหนัก

“เงินบาท” เปิดเช้านี้อ่อนค่าที่ระดับ 36.68 บ. รับแรงกดดัน “ดอลลาร์” แข็งค่า กังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก งบบจ.แย่กว่าคาด รวมถึงตลาดคาดเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ก.ค.) ที่ระดับ 36.68 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.75 บาทต่อ ดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่จะมาจากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แย่กว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังในระยะสั้น คือ ความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในไทยที่อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติได้ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท Apple อาจชะลอการจ้างงานและควบคุมการใช้จ่ายในปีหน้า เพื่อรับมือกับความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับตัวของบรรดาบริษัทเทคฯ อาทิ Meta (Facebook) และTesla ทำให้ ผู้เล่นในตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.84%

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า การมาเยือนซาอุฯ ของผู้นำสหรัฐฯ อาจไม่ได้ส่งผลให้บรรดาประเทศกลุ่มOPEC ในตะวันออกกลางจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นในระยะสั้นนี้ (Exxon Mobil +1.9%, Chevron +1.4%)

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.00% หนุนโดยความหวังว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ต่างปรับตัวสูงขึ้น (Kering +2.8%, Dior +1.7%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ  (BP +2.5%, Total Energies +2.3%) ทว่า แรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลวิกฤติพลังงาน หากสุดท้ายรัสเซียลดหรือยุติการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 แม้ว่าจะครบกำหนดการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังคงมองว่าเฟดมีโอกาสราว 30% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.00% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ความต้องการถือพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2.98% ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงผันผวนไปตามมุมมองของตลาดต่อโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงผันผวนหนัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 107.5 จุด ท่ามกลางความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนของเงินดอลลาร์ และมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่ยังเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำผันผวน ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,705 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ มองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Netflix โดยหากผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดและมีการรายงานแผนการชะลอจ้างงานหรือชะลอการลงทุน ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจและกดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ (Housing Start) เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพราะหากข้อมูลยังสะท้อนภาพตลาดบ้านที่แข็งแกร่ง รวมถึงแนวโน้มราคาบ้านและค่าเช่าที่จะยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 30% บนตะกร้าเงินเฟ้อ CPI ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้

Back to top button