“เพื่อไทย” ถล่ม “จุรินทร์” แฉถุงมือยางภาค 2 ปล่อยคนผิดฟอกเงิน 2 พันล้าน
ฝ่ายค้านเริ่มต้นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพุ่งเป้าไปที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ปล่อยให้เกิดการทุจริต และฟอกเงินในการจัดซื้อถุงมือยางมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คน เป็นวันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม
โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ในข้อกล่าวหาการทุจริตถุงมือยางภาค 2 สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์รู้เรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นที่องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. เป็นอย่างดี และทราบดีว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงในวงเงิน 2 พันล้านบาท กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จนความเสียหายเกิดขึ้น และปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามเงินที่หายไปกลับคืนมาได้
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่กล้าดำเนินการกับนายจุรินทร์ ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่เกรงใจไม่กล้าปลดออกจากตำแหน่ง เพราะเกรงว่าสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจไม่มั่นคง จึงต้องปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่นายจุรินทร์มีพฤติกรรมฉ้อฉล รู้เห็นเป็นใจกับการทุจริต สาเหตุเนื่องจากกลุ่มผู้ทุจริตเป็นบุคคลใกล้ชิด พฤติกรรมของนายจุรินทร์คือไม่อายัดเงินให้ทันต่อเหตุการณ์ กระทั่งกลุ่มผู้ทุจริตนำเงิน 2 พันล้านบาท ไปฟอกเงินกระจายไปตามบัญชีต่างๆ จนไม่สามารถติดตามนำเงินกลับมาได้
นายประเสริฐ ยังเปิดเผยว่า อคส.ได้ทำสัญญาซื้อถุงมือยาง 7 สัญญา มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท โดยสร้างข้อมูลเท็จว่ามีการสั่งซื้อถุงมือยางจากบริษัท 7 แห่ง เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้องค์การคลังสินค้าต้องรีบหาถุงมือยาง โดยทำสัญญากับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด โดยจัดซื้อ 500 ล้านกล่อง มูลค่า 1.12 แสนล้านบาท ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้รับเงินมัดจำไปแล้ว 2 พันล้านบาท จากองค์การคลังสินค้า โดยที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับมอบถุงมือยางแต่อย่างใด และได้ยกเลิกการทำสัญญากับบริษัท การ์เดียนฯ ไปแล้ว
ทั้งนี้ จากการอภิปรายครั้งที่ผ่านมาเคยกล่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายจุรินทร์ และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด คือ นายสุชาติ เตชจักรเสมา อดีตประธานบอร์ด อคส. และยังมีบุคคลภายนอก ซึ่งมีลักษณะเกี่ยวพันกัน ให้การช่วยเหลือเป็นกระบวนการเพื่อดำเนินการทุจริตภายในหน่วยงาน เงินที่ได้จากการทุจริต 2 พันล้านบาท ขณะนี้ยังติดตามเอาคืนไม่ได้ อย่างไรตาม หลังการอภิปรายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสิ้น 22 ราย โดยมีนายสุชาติอยู่ด้วย
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นายจุรินทร์ทราบดีว่า ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานายสุชาติ แต่กลับจงใจให้นายสุชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานองค์การคลังสินค้า จนหมดวาระเมื่อวันที่ 17 ธันวามคม 2564 โดยนายจุรินทร์ไม่กล้าให้นายสุชาติ ทำบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงต่อนายจุรินทร์ หรือเสนอตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พฤติกรรมของนายจุรินทร์ยังคงอ้างถึง ผอ.อคส.ว่ามีรายงานให้นายจุรินทร์ถึง 4 ครั้ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายจุรินทร์เกรงว่าภัยจะถึงตัว นายจุรินทร์เคยบอกต่อสภาว่าตนเองเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่เป็น รมว.พาณิชย์มีหน้าที่กำกับดูแลองค์การคลังสินค้า วันนี้มาทวงถามให้นายจุรินทร์ ตอบว่าเคยมีหนังสือไปยังบอร์ด อคส.หรือไม่เกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้น เคยทำหนังสือให้นายสุชาติ ได้ชี้แจงอย่างไรหรือไม่
การเพิกเฉยของ นายจุรินทร์ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย มีผู้กระทำผิดโดยมีการฟอกเงิน 2 พันล้านบาทอย่างเปิดเผย นั้นเป็นเพราะไม่อายัดเงินในบัญชีให้ทันต่อสถานการณ์ ภายหลังเงินออกจากบัญชีหมดแล้วค่อยดำเนินการอายัด สำหรับเส้นทางการฟอกเงินเริ่มต้นที่วันที่ 2 กันยาน 2563 บริษัท การ์เดียนฯ รับโอนเงินจาก อคส. 2 พันล้านบาท เป็นค่ามัดจำ วันที่ 14 กันยายน 2563 นายจุรินทร์ทราบเรื่องการทุจริต แต่เงิน 2 พันล้านบาท ถูกถ่ายโอนแล้ว ต่อมาวันที่ 29 กันยายน2563 ป.ป.ช. มีมติอายัดบัญชี เท่ากับระยะเวลา 27 วัน มีการปล่อยให้มีการฟอกเงินอย่างสะดวกสบาย ส่งผลให้ผู้ทุจริตกระจายเงินไปยังนิติบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากที่บริษัท การ์เดียนฯ ได้รับโอนจาก อคส.แล้ว ได้มีการสร้างบัญชีม้ากระจายเงินสดไปยังบัญชีต่างๆ จำนวน 1.8 พันล้านบาท
นายประเสริฐ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระหว่างวันที่ 3 กันยายน 2563 – 3 พฤศจิกายน 2563 บริษัท การ์เดียนฯ ถอนเงินสดจากบัญชีต่างๆ รวม 56.33 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการโอนเงินอย่างมีพิรุธไปยัง 8 บริษัท รวม 967 ล้านบาท ที่น่าแปลกใจอีกเรื่องคือมีการโอนเงินไปยังบริษัท RN ของประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 301 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การฟอกเงินในประเทศอย่างเดียว แต่เป็นการฟอกเงินข้ามประเทศ ดังนั้น สิ่งที่จะต้องติดตามต่อคือเมื่อนำเงินไปฟอกต่างประเทศแล้ว เงินกลับมาประเทศไทยได้อย่างไร และอยู่ที่ใคร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคล ซึ่งสงสัยว่าไม่ใช่ค่าถุงมือยาง แต่เป็นการฟอกเงินลักษณะตัวแทน หากนายจุรินทร์มีคำสั่งอายัดเงิน ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการโยกย้ายเงินเพื่อทำหนังสือรับรองยอดเงินฝาก นำไปใช้เปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท การ์เดียนฯ จากเดิมทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท เป็น 2.5 พันล้านบาท
นายประเสริฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ป.ป.ช.สอบสวนพล.อ.ประยุทธ์ และนายจุรินทร์อีกครั้ง โดยจะนำเส้นทางการเงินไปยื่นให้ และจากที่อภิปรายมานี้ จึงไม่อาจไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ และนายจุรินทร์ ให้ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป
ด้าน นายจุรินทร์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงตอบโต้นายประเสิรฐว่า เป๋นการฉายหนังเก่า ที่พูดมาทั้งหมดกว่า 90% เป็นเรื่องที่ได้เคยพูดมาแล้ว เพียงแต่มาเติมว่าตั้งแต่วันที่อภิปรายครั้งก่อนจนถึงวันนี้ไม่มีความคืบหน้า และไม่กล้าจัดการกับประธานบอร์ดอคส. นอกจากนี้เรื่องที่ผู้อภิปรายพูดไม่เป็นความจริง เพราะที่ ป.ป.ช.ไต่สวนนั้น เป็นเพราะ อคส. กระทรวงพาณิชย์ไปยื่นแจ้งกับ ป.ป.ช. ไม่ใช่ข้อมูลนายประเสริฐ และเรื่องการทุจริตก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเอง เพราะยังไม่เคยไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.เลย ที่กล่าวหาว่าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่จริงทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่เคยเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้
ส่วนภารกิจของ อคส.ในการที่ต้องทวงเงินคืนนั้น นายจุรินทร์ ระบุ ไม่ได้มีแค่เรื่องถุงมือยาง แต่มีเงิน 3 ก้อน 1.ทุจริตจำนำข้าว 2.ทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย และ 3.ทุจริตมันสำปะหลังคู่แฝดทุจริตจำนำข้าวนั่นเอง โดยกรณีทุจริตถุงถือยาง 2 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพราะอดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการ อคส. ไปทำสัญญาขายถุงมือยาง 125,000 ล้านบาท ให้กับ 7 บริษัท หลังจากนั้นก็มาทำสัญญาถุงมือยางกับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ 110,000 ล้านบาท เพื่อจะได้เป็นเงื่อนไขในการเบิกเงิน อคส.ไป 2,000 ล้านบาท ที่อ้างว่าไปจ่ายค่ามัดจำ ทั้งนี้ ผอ .อคส.คนใหม่ที่เข้ามาเมื่อทราบว่ามีเงินหายจากบัญชี 2,000 ล้านบาทก็ได้แจ้งให้ตนเองทราบ และวันเดียวกันนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งย้ายอดีตรักษาการณ์ อคส.ไปยังสำนักนายกฯทันที แบบนี้เรียกว่านายกฯ ละเลยต่อเรื่องนี้ได้อย่างไร
นายจุรินทร์ ยังชี้แจงว่า เรื่องการละเมิด เรื่องการไปติดตามทวงเงิน 2,000 ล้านบาทและดอกเบี้ยคืน ซึ่งใครกระทำความผิด ใครเกี่ยวข้องก็จะต้องนำเงินมาชดใช้ ซึ่งได้ตั้งกรรมการสอบว่าใครต้องรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี 2539 ซึ่งผลการสอบดังกล่าวก็ออกมาแล้วว่าผู้ที่ต้องชดใช้เงินนี้มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เจตนาทำให้รัฐเสียหาย มี 4 ราย ต้องชดใช้คนละ 400.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่กรรมการชี้ว่าผิดทางวินัย 3 ราย รวมทั้งประธานบอร์ด อคส. ด้วย ส่วนกลุ่มที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมี 3 ราย ต้องชดใช้คนละ 133.6 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปยุติที่กระทรวงการคลัง และเรื่องนี้ก็ได้ส่งไปยังกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดประธานบอร์ดแล้ว เมื่อเดือน 31 พฤษภาคม 2565 และกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนการไต่สวนของ ป.ป.ช. กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดนี้เราดำเนินการทั้งสามด้านแล้ว ทั้งความผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย ฉะนั้นที่ท่านกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยเรื่องนั้นไม่เป็นความจริง