ลุ้น KBANK เปิดบวก! รับกำไร Q2 ทะลุหมื่นล้าน อานิสงส์ “สินเชื่อ” โต ดันรายได้ดอกเบี้ยพุ่ง

KBANK รายงานกำไรไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านบาท โต 21% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รับรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม หนุนงวด 6 เดือนแรกโต 13% แตะ 2.20 หมื่นล้านบาท


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี โดยการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเพิ่มสูงขึ้น หลังทางการไทยผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีภาคการผลิตยังมีทิศทางอ่อนแอ เพราะต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่จะมีผลกระทบต่อภาคครัวเรือน และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งการผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับประชาชนในวงกว้างสามารถเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ ให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่อง และใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ของธนาคาร

โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 22,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2,484 ล้านบาท หรือ 12.72% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,913 ล้านบาท หรือ 10.22% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร และการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้ตามปกติสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,671 ล้านบาท หรือ 20.28% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ตามภาวะตลาดของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นการลงทุนตามธุรกิจปกติของบริษัทย่อย รวมทั้งรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนที่ลดลง

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,860 ล้านบาท หรือ 5.53% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 10,794 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 417 ล้านบาท หรือ 3.72% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 261 ล้านบาท หรือ 0.82% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21%

นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 637 ล้านบาท หรือ 7.17% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงิน ค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงตามภาวะตลาด

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 680 ล้านบาท หรือ 3.90% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 43.53% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 516 ล้านบาท หรือ 5.53% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,187,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 84,380 ล้านบาท หรือ 2.06% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 3.80%

โดยธนาคารได้เริ่มดำเนินการเชิงรุกผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และยังมีเป้าหมายเพื่อช่วยคืนลูกหนี้ที่มีสถานะทางการเงินที่ดีสามารถกลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินได้ในอนาคต สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 18.37% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.39%

Back to top button