KTC บวก 4% รับงบ Q2 กำไร 1.89 พันลบ. รับยอดใช้บัตรพุ่ง โบรกแนะซื้อเป้า 67 บ.
KTC บวก 4% หลังงบ Q2/65 กำไรโต 13% แตะ 1.89 พันลบ. จากปีก่อน 1.67 พันลบ. รับยอดใช้บัตรพุ่ง หนุนผลงานนครึ่งปีแรกทะลุ 3.64 พันลบ. ปักธงพอร์ตสินเชื่อปีนี้ทะลุแสนล้าน ยันคุม NPL ต่ำกว่า 3.60% โบรกแนะซื้อเป้า 67 บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ก.ค.65) ราคาหุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 10:47น. อยู่ที่ระดับ 56.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 4.13% โดยทำจุดสูงสุดที่ 56.75 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 54.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 269.55 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 KTC โชว์งบไตรมาส 2/65 กำไร 1.89 พันล้านบาท โต 13% จากปีก่อน 1.67 พันล้านบาท ยอดใช้บัตรพุ่ง ดันครึ่งปีแรกทะลุ 3.64 พันล้านบาท จากปีก่อน 3.31 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC สำหรับครึ่งปีแรกเติบโตที่ 16.6% หรือมีมูลค่า 109,782 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า ช่วงระยะเวลาก่อนเกิด COVID-19 แล้ว (ครึ่งแรกของปี2562 เท่ากับ 100,282 ล้านบาท) และมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ได้ทยอยเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาสสอง จำนวน 5,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น 3.6% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) และ 15.1% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามลำดับ
ขณะที่ครึ่งปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่11,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% (เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ในส่วนของหนี้สูญได้รับคืนในไตรมาสสอง และครึ่งปี 2565 มีจำนวน 851ล้านบาท และ 1,708 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งยังคงมีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
โดยในรอบครึ่งปี 2565 บริษัทได้ดำเนินงานในธุรกิจหลักไปตามแผนการที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในด้านต่างๆ โดยด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรมีอัตราการเติบโตในรอบหกเดือนอยู่ที่ 16.6% หรือมียอดเท่ากับ 109,782 ล้านบาท
เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทย จนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคมประเทศไทยได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ การเดินทางเข้าประเทศ
ไทยไม่ต้องกักตัวทุกกรณีเป็นผลให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเมื่อสิ้นสุดปีจะขยายตัวได้ที่ 15% แม้ว่าบริษัทจะยังคงเป้าหมายอัตราเติบโตที่ 10% ก็ตาม
สำหรับธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีอัตราเติบโตที่ 3.3% หรือมีมูลค่าจำนวน 30,460 ล้านบาท ใช้กลยุทธ์ให้ความสำคัญกับลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยคาดว่าจะสามารถโตได้ 7% ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
ขณะที่ยอดลูกหนี้สินเชื่อพี่เบิ้มและกรุงไทยลีสซิ่งสำหรับลูกค้าใหม่มีมูลค่าประมาณ 525 ล้านบาท แม้จำนวนเพิ่มจะยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่บริษัทก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อเร่งหาลูกค้าและเพิ่มอัตราการขยายตัวสำหรับช่วงระยะเวลาครึ่งปีที่เหลือ
ขณะที่ ณ ไตรมาสสอง ปี 2565 บริษัทมี NPL เท่ากับ 3.5% บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคาดการณ์พอร์ตสินเชื่อรวมจะมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท พร้อมประมาณการกำไรของปี 2565 ที่สูงกว่าเดิมเป้าหมาย 6,251 ล้านบาท
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2565 KTC ยังคงมุ่งเน้นในการจัดหาลูกหนี้ใหม่ให้มากขึ้นสำหรับช่วงระยะเวลาหกเดือนหลังของปีนี้ ตลอดจนสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดให้สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือบริบทที่ปรับเปลี่ยนไป อาจจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนมีการตั้งสำรองเพิ่มตามพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น แม้กระนั้นบริษัทเชื่อมั่นว่า การที่บริษัทบรรลุเป้าหมายในด้านอัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรมูลค่ายอดลูกหนี้ที่ขยายตัวได้ตามที่ตั้งใจไว้
บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(22 ก.ค.2565) ว่า KTC คงคำแนะนำ “ซื้อ” และ ราคาเป้าหมายที่ 67.00 บาท บริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 ที่ 1.9 พันล้านบาท (โต 13% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, โต 8% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด หนุนโดย 1)card spending ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และสูงกว่าระดับ Pre-COVID (ไตรมาส 2/ 2562), 2) loan yield เพิ่มขึ้นเป็น 15% หนุนโดยการกลับมาขยายสินเชื่อส่วนบุคคลที่โต 3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, โต4% เทียบไตรมาสก่อนหน้า จากที่ทรงตัวหรือหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2563,
3) ค่าใช้จ่ายสำรองลดลง ตาม NPL ที่ดีขึ้น และการตัดจำหน่ายที่สูญทีลดลงขณะที่ 4) ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นสินเชื่อ เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2565ที่ 6.8 พันล้านบาท (โต16% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) จากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โต 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, NPL ปรับตัวลง จากการขยายระยะเวลาการจ่ายชำระขั้นต่ำ และรายได้หนี้สูญรับคืนดีขึ้น ทั้งนี้เราประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2565 จะขยายตัวเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบไตรมาสก่อนหน้า จาก card spending ที่จะขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูง และค่าใช้จ่ายสำรองที่จะทรงตัวในระดับต่ำ