EIC ชี้ธุรกิจ “อิเล็กทรอนิกส์” เสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบ แนะปรับกลยุทธ์รับมือ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) เผย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปี 65 ยังเติบโตได้4.1% แม้เผชิญปัญหาขาดแคลนชิป เงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกดีมานด์จากตลาดโลกเริ่มกลับมา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยปีใน 2565 ยังสามารถเติบโตได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตชะลอลงจากปี 2564 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลงและภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ
โดยในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมขยายตัว 16.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ การทำงานแบบ Work from home และการเรียนออนไลน์ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเติบโตขึ้นมาก
สำหรับปี 2565 มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยคาดว่าจะสามารถขยายตัวที่ 4.1% YOY โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ และเซมิคอนดักเตอร์สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตดี คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ในโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ขณะที่ Consumer electronics เริ่มชะลอตัวจากความต้องการคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2565 และในระยะต่อไป มีรายละเอียด ดังนี้
1.สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ รวมไปถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิต และมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าของไทย
2.ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกยังคงยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด
3.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้น
4.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไป
5.แนวโน้มการย้ายฐานการผลิต ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
6.มาตรการกีดกันทางการค้าในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศคู่ค้า
7.การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องซักผ้าของไทย
นอกจากนี้ EIC มองว่า ผู้ประกอบการกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ควรปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ดังนี้
1.กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ
2.ควรเก็บสต็อกวัตถุดิบให้นานขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในอนาคตได้
3.พัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพของแรงงาน
4.นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตามให้จับตาดูหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้ ที่ผลประกอบการอาจฟื้นตัวในปี 2565 หลังตลาดโลกเริ่มมีความต้องการอิเล็กทรอนิกส์บางกลุ่มมากขึ้น เช่น DELTA , HANA , KCE , CCET , SMT เป็นต้น