“พาณิชย์” ชี้ช่องส่งออกไทย เน้นตลาด “อาหาร-เครื่องดื่ม” เจาะกลุ่มวัยรุ่นจีน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค Gen Z ในจีน เพราะมีกำลังซื้อสูง กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม มาแรง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในจีนมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น และกำลังจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z
ทั้งนี้ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า กลุ่มผู้บริโภค Gen Z เป็นกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2538-2552 กำลังจะกลายเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ประมาณ 280 ล้านคน คิดเป็น 18.1% ของประชากรทั้งหมด โดยกลุ่มคนเหล่านี้กำลังเข้าสู่การทำงาน และจะกลายเป็นกำลังหลักในการบริโภคในอนาคตอันใกล้ ซึ่งความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ เป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของกลุ่ม Gen Z มากขึ้น
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่ม Gen Z ของชาวจีน ที่ได้ทำการสำรวจ พบว่า มีการเสพติดคือรักแท้ โดยผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่ตัวเองรักและพึงพอใจ เช่น อาหารที่มีไขมัน น้ำมัน น้ำตาลสูง และรสชาติจัด ทำให้ร้านหม้อไฟ ชานม ของทอดเสียบไม้ อาหารตุ๋น และซุปหม่าล่า ได้รับความนิยมในแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ อย่างไรก็ตามจากการที่หมกมุ่นกับอาหารที่มีไขมัน น้ำมัน เกลือ และน้ำตาลสูง ได้ทำให้กลุ่ม Gen Z กลุ่มหนึ่งที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพ มีความต้องการอาหารที่มีส่วนผสมออร์แกนิก แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ และมีความสมดุลทางโภชนาการ
นอกจากนี้ยังพบกว่ากลุ่ม Gen Z นิยมบริโภคตามเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม หากสร้างกระแสได้ ก็จะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ส่วนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจีนเป็นสังคมลูกคนเดียวมานาน ทำให้รู้สึกขาดเพื่อน กลุ่ม Gen Z จึงมักเข้าร่วมปาร์ตี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในร้านอาหาร และร้านนั่งดื่ม เพื่อดื่มด่ำประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมถึงนิยมหาประสบการณ์ในการบริโภค เช่น ร้าน Starbucks ที่มีการโปรโมต แนะนำความรู้เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟประเภทต่างๆ การคั่ว การแปรรูปทีละขั้นตอน และวิธีการชงกาแฟในรูปแบบต่างๆ ทำให้ดึงดูดกลุ่ม Gen Z เข้าไปใช้บริการ นอกจากนี้ความคุ้มค่า ก็เป็นสิ่งที่กลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญ โดยจะเน้นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าด้วยจำนวนเงินที่น้อยที่สุด