“หุ้นยุโรป” ปิดบวก รับผลประกอบการสดใส-คาดเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย
“หุ้นยุโรป” ปิดบวก รับผลประกอบการสดใส-คาดเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวติดต่อ 2 ไตรมาส โดย ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 432.77 จุด เพิ่มขึ้น 4.65 จุด หรือ 1.09% ,ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,339.21 จุด เพิ่มขึ้น 81.27 จุด หรือ 1.30%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพฤหัสบดี (28 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส
ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 432.77 จุด เพิ่มขึ้น 4.65 จุด หรือ 1.09% ,ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,339.21 จุด เพิ่มขึ้น 81.27 จุด หรือ 1.30%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,282.11 จุด เพิ่มขึ้น 115.73 จุด หรือ 0.88% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,345.25 จุด ลดลง 2.98 จุด หรือ 0.04%
โดยนักลงทุนขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงบริษัทมงแคลร์ (Moncler) ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อแจ็กเก็ตชื่อดัง และบริษัทอิปเซน ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของยุโรป โดยราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทพุ่งขึ้น 8% และ 16.2% ตามลำดับ
ผลประกอบการที่สดใสของบริษัทมงแคลร์ช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัทแบรนด์เนมหรูรายอื่น ๆ ดีดตัวขึ้นด้วย ซึ่งรวมถึงหุ้น LVMH เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง พุ่งขึ้น 4.2%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณครั้งล่าสุดว่าเฟดจะลดความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า GDP หดตัว 0.9% หลังจากที่หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย “ทางเทคนิค” โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) เป็นหน่วยงานที่จะตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ