“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม” ครึ่งปีแรกโต 0.48% รับอานิสงส์เปิดประเทศ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 6 เดือนแรกปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 รับอานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม สิ่งทอ ฟื้นต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ครึ่งปีแรก 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอบรับสถานการณ์การผลิตกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พร้อมผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หนุนกำลังการบริโภคประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยประมาณการ MPI ปี 65 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2 – 3
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและเพิ่มกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก คาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ใน 6 เดือนแรกของปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 ขณะที่เดือนมิ.ย. 65 อยู่ในระดับทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.81 ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ด้านนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 98.05 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.41 โดย สศอ. ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 65 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2- 3 จากการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบประกอบกับประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
ทั้งนี้สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ยานยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า กระเป๋า และเบียร์ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น