เปิดชื่อตระกูลดัง “ยิ้มวิไล-เครืองาม-ลิ่มพงศ์พันธุ์” ร่วมเอี่ยวซิปเม็กซ์!

เปิดเครือข่าย “ซิปเม็กซ์ เอเชีย” พบตระกูลดังเพียบทั้ง “ยิ้มวิไล-ลิ่มพงศ์พันธุ์-มหากิจศิริ” ขณะที่การออกเหรียญ ZMT มี “ไชยา-สถิตย์” ผู้เป็นพ่อ “เอภลาภ-พราว” และลูกชายรองนายกฯ “วิษณุ” เป็นทีมที่ปรึกษา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่แพลตฟอร์ม “Zipmex” หรือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ของ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เหตุได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ Zipup+ ของลูกค้าถูกนำไปฝากไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ และนำไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius ซึ่งประสบปัญหา จนไม่สามารถทำธุรกรรมใน Z Wallet ได้ สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท

โดยได้สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมีการตั้งกลุ่มผ่านสื่อโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์กรุ๊ป “ผู้เสียหาย ซิปเม็กซ์ (Zipmex) และรวมตัวเข้าแจ้งความฟ้องร้องค่าเสียหายที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยรวบรวมหลักฐานผู้เสียหาย 744 ราย มูลค่ามากกว่า 600 ล้านบาท และมีส่วนหนึ่งเดินทางไปยื่นดำเนินคดีกับผู้บริหารซิปเม็กซ์ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อ 25 ก.ค.65 ที่ผ่านมา

สำหรับ นายเอภลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ได้ออกมาชี้แจงเป็นระยะๆ ว่า อยู่ระหว่างร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยความโปร่งใส และนำสินทรัพย์มาคืนให้ลูกค้า ประเด็นสำคัญคือ การดำเนินคดีกับคู่ค้า Babel Finance และ Celsius และเร่งเจรจากขายกิจการเพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัล และเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย

โดย ibit ได้เข้าตรวจสอบเครือข่ายความสัมพันธ์และโครงสร้างผู้ถือหุ้นระหว่าง Zipmex Asia Pte. Ltd และซิปเม็ก ประเทศไทย พบว่า บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด หรือ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ถือหุ้นโดย นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ในสัดส่วน 51%, Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น 49% และ ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส (มาร์คัส ลิม) จำนวน 1 หุ้น

อย่างไรก็ตาม นายมาร์คัส ลิม ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเซน และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ “เอกลาภ” ชักชวนมาร่วมธุรกิจ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex ด้วย

ทว่าหากพิจารณาอย่างละเอียด กลับพบพิรุธสัดส่วนการถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ที่ เอกลาภ ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรงแม้สักหุ้นเดียว เป็นแค่การถือหุ้นทางอ้อม ผ่าน 3 บริษัท คือ เอกลาภ ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย ซับซิเดียรี จำกัด และเป็นบริษัท ซิปเม็กซ์ ซับซิเดียรี จำกัด ที่ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) เมื่อคำนวณอัตราส่วนการถือหุ้นออกมาแล้วพบว่า เอกลาภถือหุ้นทางอ้อมเพียง 6.77% เท่านั้น

ขณะที่ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นใน ซิปเม็กซ์ ประเทศไทยทางตรง 49% และทางอ้อมผ่านบริษัททั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 49% เมื่อคำนวณและรวมกันแล้วทำให้ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย รวม 93.23%

โดยสรุป บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ถือหุ้นโดย Zipmex Asia Pte. Ltd 93.23% และนายเอกลาก 6.77%

สำหรับโครงสร้าง Zipmex Asia Pte. Ltd มีทุนจดเบียนในส่วนของหุ้นสามัญจำนวน 2,800,945 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิ์ 1,887,150 หุ้น โดย Segway Ventures Pte.Ltd. ของนายมาร์คัส ลิม เป็นถือหุ้นใหญ่ คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,353,347 หุ้น

ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยที่ถือใน Zipmex Asia Pte. Ltd ประกอบด้วย นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ถือหุ้น 232,220 หุ้น, นางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 162,811 หุ้น, นายภาคย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 85,470 หุ้น และนางสาวพัชร ล้อจินดากุล ถือ 16,590 หุ้น

ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ์นั้นมีทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติไทย เช่น นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือ 35,264 หุ้น และถือผ่าน บริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA อีกจำนวน 70,529 หุ้น, Pacharee Rak-Amnouykit ถือ 29,325 หุ้น, บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB ถือ 51,133 หุ้น, บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO ถือ 150,933 หุ้น และ บจ.กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทในเครือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ถือ 52,897 หุ้น

สำหรับ Zipmex Pte. Ltd (Zipmex Singapore) นั้น ทุนจดทะเบียนหุ้นสามัญจำนวน 7,449,940 หุ้น มี Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นทั้งหมด 100% และบริหารงานโดยนายมาร์คัส ลิม

ขณะเดียวกัน ibit ยังได้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดไวท์เปเปอร์การออกเหรียญ ZMT หรือ Zipmex Token พบว่า ZMT ออกโดย Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตในการทําธุรกรรมระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งใน สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซียและไทย จำนวนทั้งหมด 200 ล้านเหรียญ ทยอยปล่อยเหรียญหมุนเวียน 66 ล้านเหรียญ ในปี 64 และครบจำนวนในปี 66

สำหรับสัดส่วนการจัดสรรเหรียญ Community Development 38% Team 22% Treasury 20% Private Sales 15% Partner, Advisors, Early Investors 5%

โดยหัวเรือหลักคือ นายมาร์คัส ลิม และบุคคลสัญชาติไทย 2 คน คือ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล และ นางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นต่างชาติ ได้แก่ James Tippett, Allan Timlin, Jonathan Low, Ken Tabuki, Kelvin Lam และ Nicholas Chan

ขณะที่ทีมที่ปรึกษาของ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย มีจำนวน 3 คน ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ คือ นายไชยา ยิ้มวิไล บิดาของนายเอกลาภ ยิ้มวิไล และยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560, อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และสังกัดวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้อำนวยการ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบันฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ส่วนบุคคลที่ 2 คือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ บิดา นางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

ส่วนบุคคลที่3 คือ นายวิชญะ เครืองาม บุตรชายของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองผู้คร่ำหวอด ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายชุดและในหลายหน่วยงาน และเป็นราชบัณฑิตสาขาวิชากฎหมายปกครอง ขณะที่ วิชญะ ผู้เป็นบุตรชาย ถือว่าเจริญตามรอยเท้าพ่อ เรียนจบนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อปริญญาโท และเอก ดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และเป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงกฎหมาย และรับตำแหน่งสำคัญทั้งในแวดวงราชการและเอกชน

Back to top button