BLAND จ่อผุดโครงการ “Mixed Use” หลังร่วมทุนสร้างส่วนต่อขยาย “สายสีชมพู” เมืองทองธานี
BLAND เล็งผุดโครงการ “Mixed Use” เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนรุ่นใหม่ หลังร่วมทุนสร้างส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เข้าเมืองทองธานี
บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND จัดพิธีลงนามเซ็นสัญญากับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ใน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท สำหรับส่วนต่อขยายจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568
นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BLAND กล่าวว่า จากความร่วมมือในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ระหว่าง BLAND และ NBM ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งผู้โดยสารในเขตเมืองและปริมณฑลในครั้งนี้ รู้สึกยินดีและภูมิใจมากที่บริษัทจะสามารถมอบประโยชน์ต่อสาธารณะโดยช่วยให้ประชาชนทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี จะได้รับความสะดวกสบายด้วยการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมยังช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนในด้านของโอกาสทางธุรกิจนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่เข้ามาในเมืองทองธานีนี้ น่าจะช่วยส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้มีการเติบโตมากขึ้นอีก 10-20% นอกจากนี้ยังจะเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ โดยจะมีมูลค่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งบริษัทได้วางแผนไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็นโครงการ Mixed Use เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี
โดยทั้ง 2 สถานีดังกล่าวจะเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายเข้ามาในเมืองทองธานีจนถึงทะเลสาบเมืองทองธานีรวมเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งนี้บริษัทได้ลงทุนการก่อสร้าง Skywalk ด้วยเม็ดเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการฯ ไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตและมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการอย่างสูงสุด รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดและเพิ่มศักยภาพของการเป็นทำเลทองสำหรับโครงการใหม่ต่างๆ ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ อาทิ โมริ คอนโดมิเนียม โครงการที่พักอาศัยจำนวน 1,040 ยูนิต และโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอโนท (Lenôtre Culinary Arts School) ที่เป็นโรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
ด้านนายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร NBM กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ระหว่าง NBM และ BLAND เป็นการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ แบ่งเป็น
1.สัญญาให้การสนับสนุนการก่อสร้าง (Construction Support Agreement) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี
2.สัญญาก่อสร้างทางเชื่อม (Skywalk Connection Agreement) จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามายังตัวอาคารของเมืองทองธานี
โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ทาง BLAND ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิให้กับ NBM ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท (รวมภาษี มูลค่าเพิ่ม) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง และพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และเพื่อสิทธิของ BLAND หรือบริษัทในเครือของ BLAND ในการก่อสร้างทางเชื่อมสถานี เพื่อเชื่อมต่ออาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่ม BLAND ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเมืองทองธานี เข้ากับสถานีรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายเมืองทองธานี นับแต่วันที่ทำสัญญา จนถึงวันที่สิทธิในการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูระหว่าง NBM และ รฟม.สิ้นสุดลง และยังได้อนุมัติเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเมืองทองธานีเปิดให้บริการ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการในธุรกิจ MOVE ที่บีทีเอส กรุ๊ปฯ ให้ความสำคัญ เพราะบริษัทมุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการเดินทางแบบ door-to-door เพื่อตอบโจทย์การเดินทาง ตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายให้กับผู้โดยสารอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การให้บริการที่สะดวกและปลอดภัย โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 37 เดือน และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีผู้เดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ส่วนภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี (ไม่รวมสถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี) มีความคืบหน้าโครงการ 89.43% แบ่งเป็นงานโยธา 91.01% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.90% ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้บางส่วนช่วงต้นปี 2566