KKP อัพเป้าสินเชื่อปี 65 โต 16% รับเศรษฐกิจฟื้น หลังโควิดคลาย-คุม NPL ไม่เกิน 3.1%

KKP อัพเป้าสินเชื่อปี 65 โต 16% จากเดิม 12% รับเศรษฐกิจฟื้น หลังโควิดคลาย-เปิดเมืองหนุน-คุม NPLไม่เกิน 3.1% พร้อมลุยเปิดตัวบริการใหม่ KKP DIME ครึ่งปีหลัง หวังขยายฐานลูกค้าธนาคาร-บล.ภัทร และสร้างรายได้เสริมให้กับธนาคารเพิ่มเติม


นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า ธนาคารปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 16% จากเป้าหมายเดิม 12% หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ดีกว่าคาด โดยเติบโตสูงถึง 10% มาจากสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อมีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ที่เติบโตสูงถึง 12% จากความมั่นใจในเศรษฐกิจกลับมาหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และมีการเปิดเมืองทำให้ผู้คนกลับมาทำงานมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันกลับมาฟื้นตัวได้ดี

อีกทั้งในครึ่งปีหลังนี้ธนาคารยังมองว่ากลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันยังจะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และบ้านยังสูง และลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนหลักต่อการเติบโต แต่ธนาคารยังคงต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี

ขณะที่ในกลุ่มของสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีการขอใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนโครงการใหม่ๆอยู่บ้าง แต่ยังเป็นแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการต่างรอดูจังหวะของเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากให้ชัดเจนขึ้น  ทำให้กลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้คงยังไม่โดดเด่นมากนัก รวมถึงในช่วงครึ่งปีหลังด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้คาดว่าภาพรวมจะเห็นการเติบโตกลับมาอย่างดี โดยมีปัจจัยหนุนเป็นรายได้จากดอกเบี้ยที่เป็นแรงหนุนหลักให้กับผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้ เพราะการเติบโตสินเชื่อที่โดเด่นและเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงการลดลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในส่วนของต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนการตั้งสำรองฯที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารตั้งสำรองฯไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้อัตราส่วนการตั้งสำรองฯต่อหนี้สูญ (Coverage ratio) ของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงถึง 170% และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกให้กับผลการดำเนินงานในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้

แม้ว่าในปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนของธุรกิจตลาดทุนจะมีการแผ่วลง ซึ่งเห็นได้ชัดจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นในปีนี้ค่อนข้างซบเซา และมีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน รวมถึงดีลด้านวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะดีล IPO ที่ผู้ประกอบการที่เตรียมตัวเสนอขาย IPO เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังรอดูภาวะตลาด ทำให้มีดีลขนาดใหญ่ออกมาไม่มาก ซึ่งในครึ่งปีแรกมีเพียงดีล IPO ของบมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) และครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีดีล IPO ของบมจ.เบทาโกร (BTG) อีก 1 ดีล

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารนั้นในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับ 3% เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทำให้ลูกหนี้บางรายอาจจะมีการกลับมาชำระคืนหนี้ไม่ได้บางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ ส่งผลให้ NPL อาจปรับขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แต่ธนาคารจะควบคุม NPL ทั้งปีให้ไม่เกิน 3.1%

ขณะที่ธนาคารเตรียมเปิดตัว KKP DIME ซึ่งเป็นบริการด้านดิจิทัลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เป็นบริการใหม่ที่เข้ามาเสริมในด้านการขยายฐานลูกค้าของธนาคาร และ บล.ภัทร ในกลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย เป็นต้น เพราะเป็นบริการที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในด้านเกณฑ์การให้บริการของ บล.ภัทร และเป็นบริการด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เสริมเข้ามาให้กับธนาคารได้เพิ่มเติม โดยจะเริ่มให้บริการลงทุนซื้อขายตราสารหนี้ และบริการซื้อขายหุ้นต่างประเทศ ในช่วงเริ่มต้น จากนั้นจะมีบริการอื่นๆตามมา พร้อมกับในอนาคตหากมีการเปิดให้ขอใบอนุญาต Virtual Banking ธนาคารจะนำ KKP DIME ต่อยอดไปสู่ธุรกิจดังกล่าว

Back to top button