ยังไม่จบ! ดีลควบ “TRUE-DTAC” กสทช.ขอประเมิน “การผูกขาด” ก่อนเคาะขั้นสุดท้าย

บอร์ด กสทช. ยังไม่เคาะดีลควบรวมทรู-ดีแทค ขอประเมินผลกระทบและแนวทางป้องกันผูกขาดก่อนเคาะขั้นสุดท้าย สั่งสำนักงานฯวิเคราะห์หลักฐานทางวิชาการ 6 ข้อ โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัทใหม่ เพื่อออกแบบมาตรการป้องกันการผูกขาด


นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (3 ส.ค. 65) ได้มีวาระพิจารณารายงานการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ, ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม, รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช., ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด

โดยหลังจากได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. ทางบอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คน มีความเห็นร่วมกันว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ครบถ้วน และรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้บอร์ด กสทช. จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช.ไป ทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็น 6 ได้แก่

1.วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่ TRUE และ DTAC รวมถึง New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม

2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม

3.วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน

4.วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร

5.วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

6.วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มองว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็น สำหรับการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโทรคมนาคม หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมาย โดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อ กสทช. โดยเร็วที่สุด

Back to top button