สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ส.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ส.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันพุธ (3 ส.ค.) ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคบริการที่ดีดตัวขึ้นในเดือนก.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,812.50 จุด พุ่งขึ้น 416.33 จุด หรือ +1.29%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,155.17 จุด เพิ่มขึ้น 63.98 จุด หรือ +1.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,668.16 จุด เพิ่มขึ้น 319.40 จุด หรือ +2.59%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพุธ (3 ส.ค.) เนื่องจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจที่ซบเซาของยูโรโซน

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 438.29 จุด เพิ่มขึ้น 2.22 จุด หรือ +0.51%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,472.06 จุด เพิ่มขึ้น 62.26 จุด หรือ +0.97%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,587.56 จุด เพิ่มขึ้น 138.36 จุด หรือ +1.03% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,445.68 จุด เพิ่มขึ้น 36.57 จุด หรือ +0.49%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพุธ (3 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารก่อนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้ และคาดว่าจะลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,445.68 จุด เพิ่มขึ้น 36.57 จุด หรือ +0.49%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 4% ในวันพุธ (3 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบดบังปัจจัยบวกจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 3.76 ดอลลาร์ หรือ 4% ปิดที่ 90.66 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ดิ่งลง 3.76 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 96.78 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (3 ส.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งรวมถึงนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาชิคาโกได้สนับสนุนให้คณะกรรมการเฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 13.3 ดอลลาร์ หรือ 0.74% ปิดที่ 1,776.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 24.5 เซนต์ หรือ 1.22% ปิดที่ 19.894 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 16.5 ดอลลาร์ หรือ 1.82% ปิดที่ 888.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ดิ่งลง 82.30 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 2,007.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (3 ส.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคบริการที่ดีดตัวขึ้นในเดือนก.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.25% แตะที่ระดับ 106.5030

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.11 เยน จากระดับ 132.97 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9623 ฟรังก์ จากระดับ 0.9570 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2842 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2855 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0157 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0175 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2145 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2168 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6947 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6925 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button