PTTEP มองยอดขาย “ปิโตรเลียม” ไตรมาส 3 เฉลี่ยวันละ 4.81 แสนบาร์เรล รับดีมานด์ฟื้น
PTTEP คาดปริมาณการขาย “ปิโตรเลียม” เฉลี่ยในไตรมาส 3/65 เติบโตมาที่ระดับ 481,000 บาร์เรลต่อวัน จากความต้องการฟื้นตัว และมีกำลังการผลิตของโครงการใหม่ที่เริ่มรับรู้เข้ามา
นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในไตรมาส 3/65 เติบโตมาอยู่ที่ระดับ 481,000 บาร์เรลต่อวัน จากไตรมาส 2/65 ที่อยู่ที่ 465,459 บาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณการขายและราคาขายปิโตรเลียมจะสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายเฉลี่ยทั้งปี 65 จะอยู่ที่ 465,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการฟื้นตัว และมีกำลังการผลิตของโครงการใหม่ที่เริ่มรับรู้เข้ามา เช่น โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ), โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 ที่รับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรก
ขณะที่คาดราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงไตรมาส 3/65 และทั้งปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 6.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยจะเพิ่มขึ้นมาทำระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 4/65 เนื่องจากเป็นรอบการปรับราคาของสัญญาในอ่าวไทยในหลายโครงการ ซึ่งได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้
ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลก PTTEP คาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 90-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หรืออาจแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่มีปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังจากยกเลิกการคว่ำบาตรต่อประเทศอิหร่าน และการปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของหลายประเทศ เป็นต้น
ส่วนต้นทุนเฉลี่ยคาดมีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ หรืออยู่ที่ประมาณ 29-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่บริษัทเพิ่งเข้าเป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในไตรมาส 2/65
ทั้งนี้ บริษัทวางงบรายจ่ายและการลงทุนรวมในปีนี้ไว้ประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์ ใช้สำหรับการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการอีกราว 2,600 ล้านดอลลาร์
สำหรับความคืบหน้าเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโครงการซอติก้า ประเทศเมียนมา รั่วไหล จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบร่องรอยจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ ซึ่งระหว่างนี้ก็จะหยุดการส่งก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าเข้าไทยเป็นการชั่วคราวก่อน คิดเป็นตัวเลขประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเบื้องต้นคาดใช้เวลาในการซ่อมแซมรอยรั่วดังกล่าวไม่เกิน 2 สัปดาห์
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้า Gas-to-Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW) ในเมียนมา บริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมงาน แต่ยอมรับว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาจทำให้แผนงานชะลอไปบ้าง