สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ก็ได้ปัจจัยบวกส่วนหนึ่งจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,726.82 จุด ลดลง 85.68 จุด หรือ -0.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,151.94 จุด ลดลง 3.23 จุด หรือ -0.08% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,720.58 จุด เพิ่มขึ้น 52.42 จุด หรือ +0.41%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ตลาดหุ้นอังกฤษขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538
ทั้ง นี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 439.06 จุด เพิ่มขึ้น 0.77 จุด หรือ +0.18%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,513.39 จุด เพิ่มขึ้น 41.33 จุด หรือ +0.64%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,662.68 จุด เพิ่มขึ้น 75.12 จุด หรือ +0.55% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,448.06 จุด เพิ่มขึ้น 2.38 จุด หรือ +0.03%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 27 ปี
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,448.06 จุด เพิ่มขึ้น 2.38 จุด หรือ +0.03%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) โดยราคาน้ำมันดิ่งหลุดจากระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ. เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงด้วย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 2.12 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 88.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ดิ่งลง 2.66 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 94.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการซ้อมรบของจีนรอบเกาะไต้หวัน
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 30.5 ดอลลาร์ หรือ 1.72% ปิดที่ 1,806.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 22.8 เซนต์ หรือ 1.15% ปิดที่ 20.122 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 36.4 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 924.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 69.60 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 2,077.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขาย ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ค.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.76% แตะที่ระดับ 105.6940
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.91 เยน จากระดับ 134.11 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9546 ฟรังก์ จากระดับ 0.9623 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2851 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2842 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0252 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0157 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2174 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2145 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6981 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6947 ดอลลาร์สหรัฐ