“ศักดิ์สยาม” กางแผนนำทีม “ไทย” เยือนสปป.ลาว ถกเชื่อมรถไฟ 3 ประเทศ

รมว.คมนาคม เตรียมนำทีมไทยแลนด์ เยือนสปป.ลาว ถกเชื่อมต่อรถไฟ “ไทย-ลาว-จีน” เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางการดำเนินงานในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 65


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เตรียมนำทีมไทยแลนด์ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว และจีน ไปร่วมประชุมหาข้อสรุปร่วมกับ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางการดำเนินงานในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย. 65 ซึ่งนอกจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะเชิญภาคเอกชน เช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมเดินทางไปดูพื้นที่สถานีหนองคายฝั่งไทยและโครงการเวียงจันทร์โลจิสติกส์ปาร์ค (Vientiane Logistics Park : VLP) ด้วย

“หลักการเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่าย มีความเห็นร่วมกัน ที่จะต้องมีการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ รองรับระบบรถไฟ โดยฝ่ายไทยเห็นว่า สะพานใหม่ควรรองรับทั้งรถไฟและรถยนต์ได้ด้วย ขณะที่ทางลาวเห็นว่าควรเป็นสะพานรถไฟอย่างเดียว เพราะอาจจะมีประเด็นเรื่องงบลงทุนที่สูง ซึ่งให้รอการศึกษาเบื้องต้นออกมาก่อน การร่วมมือเชื่อมต่อระหว่าง 2 ประเทศ จะคิดฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยเบื้องต้น ไทยเสนอรับผิดชอบ การดำเนินการศึกษาออกแบบ  ส่วนการลงทุนก่อสร้างเป็นไปตามหลักระหว่างประเทศ ฝ่ายละ 50%” ศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย – เวียงจันทน์ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย – เวียงจันทน์) ในปัจจุบัน ประมาณ 30 เมตรนั้น กรมทางหลวง (ทล.) จะทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (FS ) รูปแบบและแนวทางเลือกการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ที่เหมาะสม โดยใช้งบเหลือจ่ายปี 65 ประมาณ 10 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 66

“กระทรวงคมนาคมเห็นถึงการเชื่อมโยงระบบรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน ผ่านลาว มาถึงไทย ลงไปทางใต้ เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งตนได้เคยหารือร่วมกับรมต.คมนาคม มาเลเซีย ในการพบกันที่ประเทศสิงค์โปร์ เมื่อหลายเดือนก่อน ถึงการเชื่อมต่อระบบราง จาก เมืองคุณหมิงประเทศจีน ผ่านลาว-ไทย-มาเลเซีย ไปถึงสิงคโปร์ ตนจึงเสนอว่า ทั้ง 5 ประเทศ ควรตั้งคณะทำงานร่วมกัน และทำ Action Plan การเชื่อมต่อที่มีความชัดเจน เพราะหากจะลงทุนรถไฟความเร็วสูง สายใต้แล้วมาเลเซีย ไม่มีการเชื่อมต่อจะเป็นคอขวดหรือไม่ อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าลงทุนสูงมาก การลงทุนต้องมีความคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย” ศักดิ์สยาม กล่าว

Back to top button