“ครม.” อัดงบ 4 พันลบ. หนุน 5 กระทรวงบริหารจัดการน้ำ บรรเทาอุทกภัย
“ครม.” เคาะวงเงิน 4 พันล้านบาท ให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำสำหรับช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งในปี 65/66
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางกรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565 และปี 2566 จำนวน 1,361 รายการ ให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งในปี 2565/2566
โดยพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วน ตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดใน 5 กลุ่มประเภทโครงการ ได้แก่ ดังนี้
1.การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เช่น ซ่อมแซมและปรับปรุงพนังกั้นน้ำ, คันกั้นน้ำ, ประตูระบายน้ำ, คลองส่ง และระบายน้ำ, อาคารบังคับน้ำ, สถานีโทรมาตร, เป็นต้น
2.การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวาที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำและการจัดการพื้นที่น้ำท่วม รวมถึงพื้นที่ชะลอน้ำ
3.การขุดลอกคูคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4.การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำเครื่องมือเครื่องจักรยานพาหนะขนย้าย และ 5.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่น สระหรืออ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานทั้ง 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ที่จะดำเนินการตามโครงการฯ จำนวน 1,361 รายการ กรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาท ประกอบด้วย
- กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 32 รายการ วงเงิน 23.31 ล้านบาท
- กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 2 รายการ วงเงิน 76.45 ล้านบาท
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 411 รายการ วงเงิน 1,190.43 ล้านบาท
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 139 รายการ วงเงิน 432.91 ล้านบาท
- กระทรวงมหาดไทยโดยเทศบาลเมือง, เทศบาลตำบลเทศบาลนครจังหวัด, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, องค์การบริหารส่วนตำบล, รวม 777 รายการ วงเงิน 2,296.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สทนช.ได้ประเมินว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวาและวัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน
รวมถึงสามารถซ่อมแซมหรือปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย