SCBS คัด 5 หุ้นเด่น รับเปิดประเทศ วางเป้า SET ปีนี้ 1,650 จุด
SCBS คัด 5 หุ้นเด่น BBL, BJC, CPF, CBG และ MTC มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี รับอนิสงค์จากการเปิดประเทศ คาดการณ์เป้าดัชนี SET ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า โลกกำลังกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่นมากนักจากตัวเลข GDP เชื่อว่าไทยยังอยู่ในกลุ่มที่เป็นบวกได้ค่อนข้างดี โดยมอง GDP อยู่ที่ประมาณ 2-3% ในปีนี้ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิเคราะห์ GDP ไทยอยู่ที่ 2.8% และสถาบันในประเทศส่วนใหญ่ประมาณการไว้ที่ 3% ขึ้นไป ดังนั้นจึงเห็นว่า ไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง ซึ่งภาพเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นมีความต่างกันนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะไม่ลงทุนจริงๆแล้วในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ควรเป็นจังหวะที่ต้องลงทุนเพราะว่าตลาดหุ้น เป็นตลาดที่ชี้นำเศรษฐกิจ โดย SCBS ได้ประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์สิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 1,650 จุด โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 นี้ ตลาดหุ้นไทยและหุ้นโลก มีโอกาสเป็นจุดต่ำสุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้ นับเป็นจังหวะที่ดี ที่มีของดีราคาถูก เป็นโอกาสที่มีให้เลือกลงทุนมากที่สุด โดยควรมองหาหุ้นที่เริ่มฟื้นตัว และเริ่มมีกำไร โดย SCBS ขอแนะนำ 5 บริษัทที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ หุ้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เนื่องจาก หุ้น BJC หรือ BigC ดำเนินธุรกิจค้าปลีกได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ, หุ้น CPF กลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งได้รับประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง,
หุ้น CBG ขายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นช่วงการฟื้นตัวของธุรกิจ ที่ได้รับอนิสงค์จากการเปิดเมือง ต้นทุนวัตถุดิบแพคเกจจิ้งเริ่มถูกลง อย่างไรก็ตามราคาหุ้นอาจจะมีความผันผวน เพราะการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV มีประมาณ 30% ของรายได้ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลล่าร์ ที่ประเทศดังกล่าวหลีกเลี่ยงในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าร์ เนื่องจาดอลล่าร์ขาด แต่มองว่าการลงทุนหุ้น CBG เป็นจังหวะที่น่าจับตา และปีหน้าคาดว่าภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มยังเป็นขาขึ้นอยู่
ส่วนหุ้น MTC ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำสุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและ มีความกังวลเรื่องหนี้เสีย แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ดอกเบี้ยเริ่มคงที่ น่าจะส่งผลดีราคาหุ้นของ MTC
ทั้งนี้แนวโน้มตลาดหุ้นไทยถึงแม้จะปรับตัวลดลง แต่ไม่มากเท่ากับตลาดหุ้นของสหรัฐ หรือตลาดหุ้นในเอเชีย โดยตลาดหุ้นไทยยังถือว่า Outperform กว่าตลาดอื่นๆ เนื่องจากมีหุ้นในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศอยู่มากพอสมควร ซึ่งหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ เป็นบวกกับตลาดหุ้น เนื่องจากมีผลประกอบการและปัจจัยพื้นฐานดี ซึ่งต่างจากภาคเศรษฐกิจ ที่ให้ความสำคัญกับภาคการบริโภค และ การส่งออก ซึ่งไม่ได้มีสัดส่วนที่ใหญ่ในตลาดหุ้น การลงทุนในตลาดหุ้นจะวิเคราะห์จากธุรกิจ แต่เศรษฐกิจจะวิเคราะห์จากภาพรวมของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ
ด้านผลตอบแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ ท่องเที่ยว และขนส่ง ส่วนที่เหลือขาดทุนแต่ไม่ได้ลึกมาก ถ้าดูค่าเฉลี่ยของไทยส่วนใหญ่ขาดทุนไม่ถึง 10% แต่จะมีที่เกิน 10% อยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม นั่นหมายความว่า ตลาดหุ้นไทยลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ขาดทุนมากว่า 20% อย่างไรตามอยากให้โฟกัสที่ sector ที่มีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น กลุ่มพลังงาน อาหาร ธนาคาร และประกัน ซึ่งหุ้นกลุ่มเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดี หากดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา Defining News Opportunities : Investment Outlook 2022 ที่จัดให้สำหรับลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลงในการประกาศตัวเลขของเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากราคาพลังงาน และอาหารมีการปรับตัวลดลง ราคาบ้านลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงถึง 2 เท่า จากเดิมกู้ 30 ปี อยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ต่อปี ซึ่งราคาค่าเช่าบ้านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับราคาบ้าน
ด้านค่าแรงงานต่อชั่วโมงเริ่มมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐถูกลง ประกอบกับปัจจุบันที่ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าลดลงทำให้ต้นทุนต่ำลง จึงสะท้อนว่าสินค้าต่างๆจะมีการขึ้นราคาที่ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าการประชุมในเดือนกันยายนอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% และในปีนี้ปรับขึ้นอีก 2 ครั้งๆละ 0.25% ส่วนปีหน้าอาจจะหยุดขึ้นเพราะภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณของเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ราคาน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นจะปรับตัวลดลง แต่กำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปค มีสำรองการผลิตที่ลดลง แม้ราคาปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากนัก รวมถึงการลงทุนในด้านการขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆ เม็ดเงินที่ลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตการใช้พลังงาน Fossil Fuel ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ราคาพลังงานอาจจะลดลงไม่ได้มากนัก รวมถึงซัพพลายที่ขาดแคลนในปีนี้ ประเทศในกลุ่มโอเปคผลิตได้น้อยกว่าโควตาที่ได้รับ ทำให้มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิตอยู่ จึงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอาจเป็นไปได้ว่าเพียงระยะเวลาสั้นไม่ใช่การลดลงแบบถาวร
ส่วนประเทศในแถบยุโรป มองว่า อัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ผ่านจุดสูงสุด เนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก และอยู่ในภาวะที่วิกฤติพลังงานพอสมควร แม้จะแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯแล้วก็ตาม แต่ต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากรัสเซีย ซึ่ง GDP ของประเทศแถบยุโรปมีโอกาสเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยก่อนประเทศอื่นๆ
สำหรับประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดอาจจะมีโอกาสสูงกว่า 7% เนื่องจากราคาสินค้าต่างๆ กำลังขอปรับขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลต่อราคาดัชนีผู้บริโภค (CPI) ภาคประชาชนยังอยู่ในจุดที่เปราะบาง ค่าแรงที่หักด้วยเงินเฟ้อ คือค่าครองชีพเท่ากับติดลบ ดังนั้นคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง เพราะหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมประชาชนมากขึ้นไปอีก ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ไม่ได้ก่อให้เกิดเงินทุนไหลออกจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงๆเหมือนสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่ากนง.มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ ประมาณ 0.25% โดยในปีนี้จะปรับขึ้นประมาณ 3 ครั้ง ส่วนปีหน้าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ภาวะการลงทุนที่มีความผันผวนจะมีการลงทุนอย่างไรให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลยุทธ์การลงทุนดังนี้
1) การสร้างกระแสเงินสดในพอร์ตลงทุน โดยการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหุ้นกู้เอกชน ประเภท Investment grade เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือชะลอตัว ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้อีกไม่มากนัก รวมทั้งการลงทุนในกองทุนรีท เพื่อรับผลตอบแทนจากเงินปันผล เนื่องจากธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาคึกคัก นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ราคาห้องพักเริ่มกลับไปในราคาปกติก่อนช่วงเกิดโควิด
2) กระจายความเสี่ยงไปสู่โปรดักส์ใหม่ๆ ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับตลาด เช่นการลงทุนใน Private assets เช่น private equity private debt private real estate. เป็นการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์. โดยจะเป็นการลงทุนระยะยาว และ มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุน หุ้นในตลาด และช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้
3) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสด เช่น การนำตราสารหนี้มารวมกับอนุพันธ์ เพื่อสร้างตราสารอนุพันธ์ ข้อดีคือ สามารถออกแบบเพื่อสร้างกระแสเงินในระดับสูงได้ คุ้มครองเงินต้นได้ เช่น Sharkfin หรือ Inverse floater เป็นต้น ส่วนประเภทไม่คุ้มครองเงินต้น ได้แก่ KIKO nock-in knock-out ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงในรูปของกระแสเงินสด
4) การลงทุนระยะยาว ผ่าน สินทรัพย์ประเภท Thematic Themes เป็นการลงทุนที่มองข้ามระยะสั้นที่มีความผันผวนเป็นการมองหาโอกาสในกากรลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตดีในอนาคต เช่น Healthcare E-Commerce และ Green Energy ประเภท EV Car เป็นต้น
5) การนำสินทรัพย์มาสร้างผลตอบแทนผ่าน Wealth Lending Products ประเภท Property backed loan หรือ Lombard loan โดยการนำหลักทรัพย์ประเภท หุ้นกู้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นที่ดินว่างเปล่า มาเป็นหลักประกันเงินกู้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษเพื่อนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสู้กับเงินเฟ้อ ภายใต้การดูแลของทีมที่ปรึกษาการลงทุนของธนาคาร เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยผลตอบแทนสำหรับความเสี่ยงระดับกลางอยู่ที่ประมาณ 7 – 8 % ต่อปี
มร.โดนัลด์ ไรซ์ Head of Funds Specialist Asia ธนาคารจูเลียส แบร์ กล่าวว่า ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันบัตร และ การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นลบทั้งคู่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ความผันผวนจากความไม่แน่นอนของเงินเฟ้อ นำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ทำให้สินทรัพย์ประเภท Traditional Asset มีความผันผวนสูง ดังนั้นจึงมีโปรดักส์ที่สามารถรองรับความผันผวนของตลาดได้ คือ การลงทุนใน Private Equity ที่ในปัจจุบันมีความนิยมลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักลงทุนสถาบัน เช่น ฟันด์ต่างๆ หน่วยงานที่ Conservative ทางด้านการลงทุน และธุรกิจ Wealth ที่บริหารเงินให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ก็เลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private Equity ซึ่งสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 5-10% และสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนได้ถึง 20% ในพอร์ตโฟลิโอ
ทั้งนี้ในพอร์ตการลงทุนควรจะมี Private Equity เพื่อเป็นการกระจายพอร์ตการลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนใน Traditional Asset และทำให้สามารถเข้าถึงบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่อยู่นอกตลาด ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ลดลง เนื่องจากมีเรื่องกฎระเบียบต่างๆเข้ามาควบคุมมากขึ้น ในขณะที่บริษัทที่เป็น Private Company มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆเหล่านี้ และอยู่ในช่วงของการเติบโตในอัตราที่สูง จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี
“จากประสบการณ์ 20 ปีในการลงทุนผ่าน Private Equity อย่างมืออาชีพ โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และชำนาญ ในการเข้าไปช่วยต่อยอดธุรกิจ ทั้งเทคนิคทางด้านการเงิน และการบริหาร เพื่อทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ จากการระดมทุนของ Private Equity ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน” มร.โดนัลด์ ไรซ์ กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนใน Private Equity ได้แก่ 1) ความผันผวนของตลาดแม้จะน้อยกว่าการลงทุนใน Traditional Asset, 2) กฎระเบียบการลงทุนมีความแตกต่างจาก Traditional Asset, 3) ความไม่แน่นอนของผลตอบแทน เนื่องจากในช่วงแรกอาจจะต้องระดมเงินเข้าไปก่อน แต่หลังจากบริษัทเริ่มทำกำไรได้ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี, 4) ข้อมูลการลงทุนไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นระยะจะไม่สม่ำเสมอเท่ากับการลงทุนในหุ้นทั่วไป และ 5) เป็นการลงทุนระยะยาวที่มีสภาพคล่องต่ำ