เปิด 4 ธีมหุ้นเด่น รับอานิสงส์ “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
โบรกแนะสอย 4 ธีมหุ้นเด่น ได้แก่ หุ้นในกลุ่ม Anti-commodities, ธนาคาร, High Growth และหุ้นอิงการบริโภคเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าคาด รับอานิสงส์ “กนง.” มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75%
บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS คาดกนง. มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% โดยมองภาพรวมเป็นผลบวกคาดเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงภายใต้ภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ประเมินหุ้นในกลุ่ม Anti-commodities, ธนาคาร, High Growth และหุ้นอิงการบริโภคเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวดีกว่าคาด และยังเป็นธีมการลงทุนตัวเลือกที่น่าสนใจ
ด้านกนง. มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% และคาดว่าจากนี้ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง (ตามที่ทางฝ่ายวิเคราะห์ประเมิน) จากคาดการณ์จากนี้เงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงภายใต้ภาพเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัว โดยมีแนวโน้มปรับ GDP เพิ่มรอบประชุมหน้า
โดยยังคงมองบวกสำหรับภาพรวมของเงินเฟ้อที่ BOT ประเมินจะทยอยปรับตัวลดลง สอดคล้องกับมุมมองทีมกลยุทธ์ที่เชื่อว่าเงินเฟ้อใกล้ผ่านจุดสูงสุด อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวตลาดระยะสั้น ควรติดตามรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ วันนี้ประกอบกับเงินเฟ้อ CPI เดือนก.ค.65 ของสหรัฐฯ ค่ำคืนวันนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์จะปรับเพิ่มขึ้น 0.5% m-m ชะลอตัวลดลงจาก 0.7% m-m ประเมินทิศทางตลาดและกลยุทธ์ 2 กรณี ดังนี้
สำหรับกรณีที่ 1 หากเงินเฟ้อเร่งปรับขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ 0.5% m-m จะส่งผลให้ตลาดเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในรอบวันที่ 20-21 ก.ย.65 ที่ 0.75% โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่ารอบระยะสั้น จากส่วนต่างของดอกเบี้ยไทย และสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้นเป็นภาพลบระยะสั้นต่อตลาด
ส่วนกรณีที่ 2 หากเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้น้อยกว่า 0.5% m-m โดยคาดว่าตลาดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในรอบประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 ในระดับ 0.50% โดยประเมินค่าเงินบาทจะยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า
ทั้งนี้ ทีมกลยุทธ์คงมุมมองระยะกลางในภาพรวมของเงินเฟ้อที่ใกล้ผ่านจุดสูงสุด ซึ่งช่วยคลี่คลายความเสี่ยงหลักๆ ต่อตลาดในระยะถัดไป โดยภายใต้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจากนี้ที่อยู่ในทิศทางดีกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ยังคงมองหุ้นที่เคลื่อนไหวดีกว่าตลาดช่วงนี้น่าสนใจอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาพใหญ่ดังกล่าว
1) หุ้นในกลุ่ม Anti-commodities ได้แก่ SCGP, SCC, GSPC, BGRIM, BCPG, CBG, OSP, TOA, EPG, GULF
2) หุ้นอิงการบริโภค ได้แก่ ADVANC, INTUCH, DTAC, CPALL, MAKRO, CRC, HMPRO, ILM โดยกลุ่มเช่าซื้อรอตั้งรับ ได้แก่ TIDLOR, KTC
3) หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์การปรับเพิ่มดอกเบี้ย ได้แก่ KBANK, BBL
4) กลุ่ม High Growth ที่จะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากบอนด์ยีลด์ซึ่งจะผ่านจุดสูงสุดตามภาพรวมของเงินเฟ้อ ได้แก่ JMART, SNNP, BE8, BBIK, SINGER, JMT, CHAYO, IIG
ทั้งนี้ ในเชิงกลยุทธ์จังหวะลงทุนระยะสั้นให้พิจารณาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประกอบกับกรณีออกมาสูงกว่าหรือเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ควรเน้นไปที่การตั้งรับทยอยสะสม ขณะที่นักลงทุนระยะกลางและยาว เพื่อสามารถพิจารณาทยอยลงทุนตัวเลือกดังกล่าวได้