WHA กำไรไตรมาส 2 โต 11% แตะ 290 ลบ. ดันงวด 6 เดือนเฉียด 1 พันลบ.

WHA รายงานกำไรไตรมาส 2/65 โต 11% แตะ 290 ลบ. ดันงวด 6 เดือนแรกของปีเฉียด 1 พันลบ. เพิ่มขึ้น 140% จากงวดเดียวกันของปีก่อน


บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ ดังนี้

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่มีการเติบโตสอดรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ภาคการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป  ที่สะท้อนถึงผลประกอบการของ 4 กลุ่มธุรกิจ

ธุรกิจโลจิสติกส์  มีผลงานการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น โดยในครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวม 111,136 ตารางเมตร โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit รวม  87,946 ตารางเมตร กับลูกค้ารายใหญ่ อาทิ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มโลจิสติกส์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสัญญาเช่าระยะสั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 96,071 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 96 ของเป้าหมายสัญญาให้เช่าพื้นที่ระยะสั้น ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดไว้ 100,000 ตารางเมตร ส่งผลให้ครึ่งปีแรก  บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครอง และบริหารทั้งหมด 2,683,502 ตารางเมตร และจากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของบริษัทฯ ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 แตะที่ระดับประมาณร้อยละ 90 ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสิ้น 284.3 ล้านบาท และ 512.8 ล้านบาท ตามลำดับ

จากการที่ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ปรับตัวอย่างโดดเด่นในครึ่งปีแรก ส่งผลให้บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าวในช่วงครึ่งปีหลังว่า จะมีดีมานด์การเติบโตอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจาก บริษัทฯ มีการเซ็นสัญญาเช่ากับลูกค้ารายใหม่ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่เช่าให้กับลูกค้าได้ตามแผนงานที่วางไว้ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทฯ มีการบริหารต้นทุนที่ดีรวมถึงได้มีการทำสัญญาซื้อขายและกำหนดราคาล่วงหน้ากับผู้รับเหมาไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แต่อย่างใด

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จากนโยบายเปิดประเทศและมาตรการปลดล็อคการเดินทาง ส่งผลให้ลูกค้าชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ เยี่ยมชม และซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้โดยสะดวก โดยกลุ่มนักลงทุนหลักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าชาวจีน และสหรัฐฯ จากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในครึ่งปีแรก 2565 โดยบริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 513 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทย 482 ไร่ และประเทศเวียดนาม 31 ไร่ อีกทั้งมียอด MOU รวม 230 ไร่ แบ่งเป็นในประเทศไทย 48 ไร่ และประเทศเวียดนาม 182 ไร่ โดยในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวม 704.0 ล้านบาท และ 1,398.0 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ยอดขายที่ดินที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ สอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย

“ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการขยายและก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ขนาดพื้นที่จำนวน 1,281 ไร่ บนทำเลที่ตั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงแผนการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 2 เพิ่มอีก 580 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ขายและรองรับความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในอนาคต

ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการจูงใจด้านเงินอุดหนุนและการลดภาษีเพื่อหนุนการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบายผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (zero-emission vehicle) ของภาครัฐก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์เพิ่มการลงทุน หรือใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในฐานะที่บริษัทฯ มีลูกค้ากลุ่มยานยนต์มากกว่าร้อยละ 30 อีกด้วย” นางสาวจรีพร กล่าว

พร้อมทั้งประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลัง จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงมียอดขายสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยทางจิตวิทยาเชิงบวก ภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน-ไต้หวัน ที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ขอเข้ามาเยี่ยมชมนิคมฯ เพื่อการลงทุนเป็นจำนวนมาก

โดยเบื้องต้นคาดว่า ภายในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มเติมอีกว่า 600-700 ไร่กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายที่ดินรอการส่งมอบ (Backlog) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 1,000 ไร่  และคาดว่าจะสามารถส่งมอบและรับรู้รายได้บางส่วนภายในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้มีการเจรจากับนักลงทุนอีกหลายรายที่มีความต้องการที่ดินรวมกันมากกว่า 2,000-3,000 ไร่

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 31 ไร่ และยอด MOU รวม 182 ไร่ สอดคล้องกับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการลงทุนในประเทศเวียดนามที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการกลับมาเปิดประเทศ และมีโอกาสขยายตัวสูงจากการเติบโตของ GDP และยอด FDI ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้ยอดขายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นในอนาคต   ปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีด้วยจำนวน Enquiry ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงเร่งพัฒนาเฟสที่ 2 บนพื้นที่กว่า 2,200 ไร่ โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่รวมทั้งเฟส 1 เฟส 2 และส่วนต่อขยายของเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 11,550 ไร่

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเวียดนาม ยังส่งผลทำให้เกิดความต้องการที่ดินภายในเขตอุตสาหกรรมคุณภาพสูงอีกจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทฯ เร่งพัฒนาโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเติมในจังหวัด Than Hoa

ธุรกิจสาธารณูปโภค(น้ำ) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 663.2 ล้านบาท และ 1,285.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% และ 8.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมสำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 39.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 75.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ และมีปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศ สำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 รวม 32.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 62.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะ Gulf SRC ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม

ขณะที่ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม โครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวม    ตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 6.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้น้ำจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ รวมถึงการที่สถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดฮานอยคลี่คลายลง

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ใน              ไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 รวม 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้ความมุ่งมั่นพัฒนาและเปิดดำเนินการโครงการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกับ Gulf SRC ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยการผลิตที่ 3 และ 4 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 และส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมอีกกว่า 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกเหนือจากการขยายฐานลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำประเภท Conventional ท้้งน้ำดิบ และน้ำอุตสาหกรรมทั่วไป อีกทั้งบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ Value-Added Product ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ที่ได้จากกระบวนการ recycle น้ำเสีย เพื่อช่วยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับแผนงานการเติบโตนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอนั้น ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับผลิตและจำหน่ายน้ำประเภท Value – Added Product  ให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย โดยเฟสแรกมีกำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2565

นอกจากการลงทุนเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำแล้ว บริษัทฯ ยังมีการลงทุนในการจัดหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกอื่นๆ  อาทิ การขุดอ่างเก็บน้ำเพิ่ม เพื่อลดการพึ่งพาการจัดซื้อน้ำดิบจากผู้จำหน่ายหลัก รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำดิบ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่งน้ำดิบทางเลือกอีกอย่างน้อย 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี

“โครงการที่ประเทศเวียดนาม บริษัทฯ มีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 หลังจากเฟสที่ 1 พัฒนาแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าภายใน เขตอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการประปา SDWTP และ Cua Lo ที่จะมีการลงทุนในส่วนของการวางท่อเพิ่มเติม เพื่อขยายการบริการแก่ลูกค้าเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า  บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร / ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 290.7 ล้านบาท และ 383.4 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากโรงไฟฟ้า GHECO-One ที่เพิ่มขึ้นจาก จำนวนวันหยุดซ่อมบำรุงที่ลดลง  และส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่า Ft ที่เริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ลดผลกระทบทางลบจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้บางส่วน

ทั้งนี้คาดว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเพิ่มเติม โดยหากมีการปรับเพิ่มค่า Ft ตามที่ กกพ. ได้ประกาศออกมาจะช่วยสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น และช่วยลดปัจจัยลบที่มีต่อยอดขายส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เห็นได้ชัดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไตรมาส 2 ปี 2565  บริษัทฯ มีการเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม จำนวน 13 สัญญา แบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 10 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 21 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 3 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 3 เมกะวัตต์ ส่งผลให้  ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 125 เมกะวัตต์

โดยบริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 2 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 62 เมกะวัตต์ โดยครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 612 เมกะวัตต์

โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carpark) ให้กับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร นับเป็นโครงการ Solar Carpark ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 235 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการติดตั้งแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเพื่อเตรียมการสู่อนาคตสำหรับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บมจ.ปตท. “PTT” และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด “Sertis” ในการพัฒนา Peer-to-Peer Energy Trading Platform ภายใต้ชื่อ “RENEX” เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยนำเทคโนโลยีสำคัญ

ได้แก่ Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ “RENEX” ได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ในการทดลองให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มขึ้นภายในไตรมาส 3 ปี 2565 โดยระบบการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader ในโครงการทดลองนำร่องดังกล่าวจำนวนมากกว่า 23 ราย

ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนนักลงทุนที่ต้องการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิล ใยแก้วนำแสง (FTTx) ภายในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ให้ครบทั้ง 11 แห่งภายในปีนี้

โดยบริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ด้วยแผนงานด้าน ‘นวัตกรรมและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’ ตลอดจนวางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดตัวแอปพลิเคชัน WHAbit ที่ให้บริการร่วมกับ Samitivej Virtual Hospital ของโรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อให้คำปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การตรวจสุขภาพ (Health Check-up) และสมาร์ทคลินิก สำหรับพนักงานและลูกค้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานของบริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้การสนับสนุนการแข่งขัน World RoboCup 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าวเป็นการส่งเสริมทักษะด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ให้กับคนรุ่นใหม่ นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการส่งเสริมการวิจัยด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้านไอที เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมช่วยเพื่อความสามารถในการผลิต และความปลอดภัยในทุกภาคส่วน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ ยังได้กล่าวตอกย้ำอีกว่า บริษัทฯ ยังมีแผนการเข้าลงทุน และต่อยอดความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WHAVH ได้เข้าลงทุนในบริษัท เมอร์คูลาร์ (Mercular) สตาร์ทอัพ Vertical E-Commerce สัญชาติไทย ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Hobby Lifestyle และ  Community Commerce เพื่อจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง อาทิ หูฟัง ลำโพง เกมมิ่งเกียร์ โต๊ะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์งานอดิเรก และอื่นๆ

โดยการเข้าลงทุนครั้งนี้ จะช่วยให้เมอร์คูลาร์ (Mercular) สามารถผสานห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เข้ากับระบบนิเวศด้านโลจิสติกส์ที่ครบทุกมิติของกลุ่มดับบลิวเอชเอ ทั้งในส่วนคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าระดับพรีเมียม รวมถึงการเป็นช่องทางให้บริษัทฯ และกลุ่มดับบลิวเอชเอสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจ B2C ให้มากขึ้น

รวมถึงยังสามารถต่อยอดความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพผ่าน บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด (Giztix) สตาร์ทอัพด้าน E-Logistics ที่บริษัทฯได้เข้าลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการขนส่งพัสดุ ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง (Last Mile Delivery)

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้สภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง โดยบริษัทฯ ได้เปิดตัว WHA Office Solutions อาคารสำนักงานให้เช่าบนหลากหลายทำเลทั่วกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรที่กำลังมองหาพื้นที่การทำงานแบบยืดหยุ่น อาทิ โครงการ WHA Tower อาคารสำนักงานสูง 25 ชั้น พื้นที่เช่า 52,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในย่านบางนา-ตราด ปัจจุบันมีอัตราการเช่าพื้นที่ประมาณร้อยละ 50 และมีกลุ่มลูกค้าทยอยลงนามสัญญาเช่าพื้นที่เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โครงการ WHA KW อาคารสำนักงานโลว์ไรส์ บนพื้นที่ 9,900 ตารางเมตร ตั้งอยู่มุมถนนสุขุมวิท ซอย 25 ย่านสุขุมวิท-อโศก สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลัก โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566

ส่วนกรณีแผนการเตรียมขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ ในปี 2565 นั้น ล่าสุดผู้ถือหน่วยกองทรัสต์ WHART และกองทรัสต์ WHAIR  ได้มีมติอนุมัติให้ทำการลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินคิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 208,149 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,397 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2565 ตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกัน กองทรัสต์ WHART ได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ ให้เป็น 1 ในหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เนื่อง จากมีการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance: ESG) ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการการันตีให้เห็นถึงศัยภาพความมุ่งมั่น และตอกย้ำว่า WHART เป็นกองทรัสต์ Industrial ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุดในไทย (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจพร้อมกับการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล  บริษัทฯ มุ่งมั่นแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการสร้างผลกระทบเชิงลบ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน สอดรับกับการศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นการผลักดันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ตามแนวทาง SBTi (Science Based Targets Initiative) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลกและประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Back to top button