ตามคาด! MINT ไตรมาส 2 พลิกกำไร 1.56 พันลบ. รับธุรกิจโรงแรมยุโรปหนุน
MINT ไตรมาส 2 พลิกกำไร 1.56 พันลบ. จากขาดทุนในช่วงไตรมาส 2/64 ที่ 3.92 พันลบ. ส่วนงวด 6 เดือนแรกขาดทุนลดลง อยู่ที่ 2.23 พันลบ. อานิสงส์ธุรกิจโรงแรมยุโรปหนุน
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/65 และงวด 6 เดือนแรกของปี 65 มีกำไรสุทธิ ดังนี้
โดยบริษัทรายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2565 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 1.2 พันล้านบาท ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 3.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2564 และ 3.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยไมเนอร์ โฮเทลส์พลิกฟื้นกลับมามีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ในขณะที่ไมเนอร์ ฟู้ด และไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ยังคงสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS16 ส่วนขาดทุนจากสถานการณ์ที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยน และสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ชะลอตัวในประเทศจีน MINT จะมีกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 2.2 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ในไตรมาส 2 ปี 2562 ที่จำนวน 2.1 พันล้านบาท
ทั้งนี้หากนับรวมรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว MINT รายงานกำไรสุทธิตามงบการเงินอยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 3.9 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2564 และรายงานกำไรสุทธิตามงบการเงินอยู่ที่จำนวน 2.2 พันล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 11.2 พันล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแล้ว MINT ยังคงมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน และประสบความสำเร็จในการลดอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่าเงื่อนไขตามพันธสัญญาหนี้ แม้ว่าจะได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาการยกเว้นการทดสอบการดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 2565
สำหรับไมเนอร์ โฮเทลส์มีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 ปี 2565 โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่พลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกอยู่ที่จำนวน 1.2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 3.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564 และ 3.7 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนดังกล่าวเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในทุกภูมิภาคหลักของบริษัท โดยกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรปมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ปรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด
ขณะที่กลุ่มโรงแรมในประเทศออสเตรเลียยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 83 และราคาค่าห้องพักเฉลี่ยที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ในไตรมาส 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในสกุลเงินออสเตรเลียอยู่ในระดับที่สูงกว่าในปี 2562 ถึงร้อยละ 49 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของทั้งนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและนักเดินทางเพื่อธุรกิจ จากการกลับมาจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาที่เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มโรงแรมในประเทศมัลดีฟส์ยังคงมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 ในขณะที่กลุ่มโรงแรมในประเทศไทยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 43 ในไตรมาส 2 ปี 2565 ในขณะที่ราคาค่าห้องพักเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนกลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2562 แล้ว
ด้านไมเนอร์ ฟู้ดมีผลกำไรจากการดำเนินงานที่เป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 ในไตรมาส 2 ปี 2565 โดยความสามารถในการทำกำไรของร้านอาหารในประเทศไทย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ช่วยลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทายของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนท่ามกลางการปิดพื้นที่ในกรุงเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งอย่างเต็มรูปแบบในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2565
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานโดยรวมของร้านอาหารในประเทศจีนฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายน 2565 ภายหลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้สามารถเปิดให้บริการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยอดขายโดยรวมทุกสาขาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 2 ปี 2565 จากยอดขายหน้าร้านที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ยกเว้นประเทศจีน ประกอบกับจำนวนสาขาร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและการกลับมาเปิดให้บริการร้านอาหารในประเทศออสเตรเลีย
ทั้งนี้ MINT ยังคงมีสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งด้วยกระแสเงินสดอิสระเฉลี่ยที่เป็นบวกจำนวน 7.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565 อันเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่เงินสดในมือและวงเงินสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอยู่ที่จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท และ 3.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ในส่วนของฐานะทางการเงิน MINT มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอยู่ที่ 1.30 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 1.36 เท่า ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการชำระคืนเงินกู้ยืมสุทธิ ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขตามพันธสัญญาหนี้ที่ 1.75 เท่า แม้ว่าจะได้รับสิทธิในการผ่อนผันไปจนถึงสิ้นปี 2565
สำหรับท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น MINT มีแผนในการดำเนินการชำระคืนเงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวก่อนกำหนดในปลายปีนี้ ควบคู่ไปกับการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและการกู้ยืมในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ดีเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 MINT คาดว่าภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับความต้องการในการเดินทางเพื่อธุรกิจที่คาดว่าจะสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง MINT คาดว่ากลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และมัลดีฟส์จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ต่อไป ในขณะที่กลุ่มโรงแรมในประเทศไทยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังจากการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2565
ส่วนไมเนอร์ ฟู้ดในประเทศไทยมีแผนที่จะลงทุนในการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัยและผลักดันการเติบโตของยอดขายผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ ท่ามกลางการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น สาขาร้านอาหารทั้งหมดในประเทศจีนได้กลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านในเดือนกรกฎาคม โดยมียอดขายรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากการกลับมาเปิดร้าน แม้ว่าจะยังคงมีการจำกัดจำนวนที่นั่งภายในร้านและการปิดร้านชั่วคราวจากการที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในบางพื้นที่ ส่วนกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศออสเตรเลียอยู่ในระหว่างการผลักดันยอดขายผ่านการส่งเสริมเอกลักษณ์กาแฟของแบรนด์เดอะ คอฟฟี่ คลับ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
โดยในระหว่างนี้ MINT จะดำเนินการตามกลยุทธ์การจัดซื้อวัตถุดิบที่เหมาะสมต่อไปเพื่อที่จะบริหารจัดการราคาต้นทุนวัตถุดิบและระดับสินค้าคงเหลือให้เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบและช่วยลดผลกระทบจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ
นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รายงานผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของ MINT ในไตรมาสที่สองนี้แม้ว่าบริษัทจะคงเผชิญกับความท้าทายจากภายนอกในบางตลาดที่บริษัทมีการดำเนินงานอยู่ โดยกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัททั้งหมดมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจการบริการระดับโลกอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน และการปรับใช้กลยุทธ์ของ MINT ในภูมิภาคเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“เมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ที่บริษัทได้วางไว้จึงมีความมั่นใจถึงแนวโน้มการฟื้นตัวเชิงบวกของบริษัทด้วยยอดจองโรงแรมที่แข็งแกร่งในตลาดต่างๆ และความสามารถของบริษัทในการรองรับลูกค้าที่จะกลับมารับประทานอาหารในร้านอาหารของเรา อย่างไรก็ตาม เราได้ก้าวข้ามไปสู่โลกภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 แล้ว และเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในสภาพแวดล้อมการทำงานรูปแบบใหม่ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทีมงานที่มีความกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง” นายดิลลิป กล่าว
อย่างไรก็ดีผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปีนี้บริษัทเติบโตตามคาดการณ์ของบล.เคทีบีเอสที ที่ระบุว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของ MINT จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ
นอกจากนี้ บล.คิงส์ฟอร์ด ได้ระบุว่า ไตรมาส 2 MINT จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิที่ 1.03 พันล้านบาท จากขาดทุนในช่วงไตรมาส 2/64 ที่ 3.92 พันล้านบาท