สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ส.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ส.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (12 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากสัญญาณเงินเฟ้อที่ลดลง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าภาวะตลาดกระทิงอาจจะดำเนินต่อไป ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดบวกเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,761.05 จุด เพิ่มขึ้น 424.38 จุด หรือ +1.27%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,280.15 จุด เพิ่มขึ้น 72.88 จุด หรือ +1.73% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,047.19 จุด เพิ่มขึ้น 267.27 จุด หรือ +2.09%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (12 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ที่ดีดตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดี และการคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียนได้ช่วยหนุนตลาดด้วย

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 440.87 จุด เพิ่มขึ้น 0.71 จุด หรือ +0.16%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,553.86 จุด เพิ่มขึ้น 9.19 จุด หรือ +0.14%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,795.85 จุด เพิ่มขึ้น 101.34 จุด หรือ +0.74% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,500.89 จุด เพิ่มขึ้น 34.98 จุด หรือ +0.47%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (12 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นทั่วโลกหลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐชะลอตัวลง ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,500.89 จุด เพิ่มขึ้น 34.98 จุด หรือ +0.47%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (12 ส.ค.) โดยถูกกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า ภาวะชะงักงันในการขนส่งน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกอาจจะเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ การที่อิหร่านส่งสัญญาณใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจ ซึ่งจะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดอีกครั้งนั้น ได้ส่งผลฉุดราคาน้ำมันลงด้วย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 2.25 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 92.09 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 3.5% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 1.45 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 98.15 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เพิ่มขึ้น 3.4% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (12 ส.ค.) และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยได้ปัจจัยหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 8.30 ดอลลาร์ หรือ 0.46% ปิดที่ 1,815.50  ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 1.3% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 34.90 เซนต์ หรือ 1.72% ปิดที่ 20.698 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ทรงตัวที่ระดับ 959.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 69.00 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 2,219.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (12 ส.ค.) หลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายยังคงแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีสัญญาณว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงก็ตาม

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.51% แตะที่ระดับ 105.6310

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 133.49 เยน จากระดับ 132.95 เยน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9417 ฟรังก์ จากระดับ 0.9419 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2777 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2760 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0269 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0327 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าสู่ระดับ 1.2141 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2201 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7129 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7107 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button