ลุ้น! “พาณิชย์” ปรับราคา “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หลัง 5 เสือวงการเส้นขอขึ้น 2 บ.

ผู้ประกอบการผลิต “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” 5 รายใหญ่บุกกระทรวงพาณิชย์ ขอขึ้นราคาซองละ 2 บาท หลังราคาแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มพุ่ง ด้านกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาต้นทุนเป็นรายกรณี เพราะการขึ้น 2 บาทกระทบผู้บริโภค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อ ได้แก่ ยำยำ ไวไว มาม่า นิสชิน และซื่อสัตย์ ได้เดินทางมากรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นจากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท หลังจากวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่าง แป้งสาลีและน้ำมันปาล์มที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในก็อยู่ระหว่างพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่หากจะให้ขึ้นต้องเป็นไปตามต้นทุน และพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ หากพบว่าผู้ประกอบการ ห้าง และร้านค้าต่างๆ มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรหรือกักตุนสินค้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ในระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะหันไปส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออก 30-35 % เพราะมีกำไรมากกว่า  เนื่องจากการขายภายในประเทศขาดทุน แต่ผู้ประกอบการ ยืนยันว่าขณะนี้กำลังการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยปัจจุบันบริษัทเดินเครื่องผลิตเพียงแค่ 80% ของกำลังการผลิตเท่านั้น คงไม่มีปัญหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาดแคลน เพราะในช่วงปีที่น้ำท่วมใหญ่ถนนขาด มาม่ายังสามารถผลิตและขนส่งไปจำหน่ายได้” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การปรับขึ้นราคาล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว จากซองละ 5 บาทเป็นซอง 6 บาท และที่ผ่านมาผู้ผลิตได้ขอปรับราคามาเกือบสองปี แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาต เพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย แต่ตอนนี้ที่ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียวเพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า

Back to top button