“ลูกหนี้โควิด” ครึ่งปีแรกพุ่ง 4.3 ล้านบัญชี ดัน NPL ทะลุ 1.1 ล้านลบ.

“เครดิตบูโร” เปิดตัวเลขหนี้เสียครึ่งปีแรกทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 มีหนี้เสีย 9.5 แสนล้านบาท ฟากลูกหนี้โควิดพุ่งแตะ 4.3 ล้านบัญชี


นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวในเสวนา “ดอกเบี้ยพุ่ง SMEs โคม่า” จัดขึ้นโดย พรรคสร้างอนาคตไทยว่า หากดูภาพรวม หนี้ครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก พบว่าวันนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.6 ล้านคน หรือ 89% หากเทียบกับจีดีพีไทยที่ 14.6 ล้านล้านบาท ซึ่งหากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนบนข้อมูลของ “เครดิตบูโร” พบว่ามีถึง 13 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 32 ล้านคน

โดยวันนี้ หนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาทแล้ว ในมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.6% ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นชัดเจนหากเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่เพียง 9.5 แสนล้านบาท หรือ 7.5%

ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อที่ค้างชำระยังไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด (SM) กลุ่มนี้ พบว่า แม้ผู้ประกอบการขนาดเล็กตกลงมาอยู่ที่ระดับ 3% แต่ตัวเลขไปเพิ่มขึ้นในกลุ่มสีแดง หรือหนี้เสียมากขึ้น เช่นเดียวกัน ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ ปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 6% ในไตรมาส 2

ทั้งนี้สะท้อนว่ากลุ่มที่เลี้ยงงวดไปเรื่อยๆ ไปไม่ไหว หรือกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้น้อยลง แสดงว่า คนไม่มีรายได้พอในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ส่งผลให้หนี้เสียในไตรมาส 3 กระโดดจาก 9.5 แสนล้านบาท เป็น 1.1ล้านล้านบาท

นายสุรพล กล่าวอีกว่า ที่สำคัญหากดูข้อมูลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือรหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบโควิดจนเป็นหนี้เสียในช่วง ปี 63-64 จากก่อนหน้าที่ไม่เคยเป็นหนี้เสีย พบว่ากลุ่มนี้มากขึ้นต่อเนื่อง

โดยเพิ่มขึ้นจากมี.ค. ที่มีจำนวนบัญชี 2.7 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.3 ล้านบัญชี ในมิ.ย.65 หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านบาท จากระดับ 2.2 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ที่ประสบภัยทางการเงินจากโควิดเหล่านี้ เพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน จาก 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 8 แสนคน ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ควรมีการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเริ่มต้นที่รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบมาจากโควิด เหล่านี้มีถึง 2.9 ล้านคน หากสามารถช่วยกลุ่มนี้ได้ 1 ล้านคน ก็จะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ตรงเป้า แต่วันนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในการปล่อยสินเชื่อ คือห้ามปล่อยสินเชื่อให้คนที่เป็นหนี้เสีย ดังนั้นเหล่านี้หากสามารถแก้ตรงนี้ได้จะหนุนให้เอสเอ็มอีที่เจอปัญหา เข้าถึงสินเชื่อและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

Back to top button