“สคฝ.” ผนึก “สถาบันประกันเงินฝาก” กางแผนรับมือยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

สคฝ. ผนึกความร่วมมือ สถาบันประกันเงินฝากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมหารือแนวทางรับมือความท้าทายของภาคการเงินในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล


สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นทางการเงินของประเทศ ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาประจำปีคณะสถาบันประกันเงินฝากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้สมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 (The 20th IADI APRC International Conference) ภายใต้หัวข้อ Gearing Towards the New Financial Landscape โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการสัมมนากว่า 300 คนทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติจาก 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของโลก สะท้อนถึงความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในงานดังกล่าวประเทศไทยยังได้ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่าง แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่รัฐบาลไทยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาคการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน จากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยก็ประสบกับความท้าทายสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการในการประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะลอตัวและกลับมาเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นอีกครั้งและปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงจากการกำหนดราคาสินค้า

อย่างไรก็ดีจากมาตรการภาครัฐที่เร่งให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และภาคบริการและการท่องเที่ยว ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศรวมถึงการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ช่วยลดความเดือดร้อนของภาคประชาชน

“ระบบเศรษฐกิจและการเงินเป็นเรื่องที่กระทบต่อสังคมในทุกระดับนอกจากความท้าทายที่ผู้มีบทบาทต้องให้ความสำคัญในการสร้างมาตรการแก้ไขแล้ว ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นสิ่งที่สำคัญมากในภาวะที่ภูมิทัศน์ภาคการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทางการเงิน และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินอย่างต่อเนื่องและมั่นคง” นายอาคม กล่าว

ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ช่วยให้มองเห็นถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวของสถาบันประกันเงินฝากในหลายๆ ประเทศให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินทั่วโลก และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สคฝ. ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินของประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนประสิทธิภาพของการคุ้มครองเงินฝากเพื่อสอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในปัจจุบัน นอกจากนี้ สคฝ. ยังเดินหน้ายุทธศาสตร์องค์กรมุ่งเน้นการผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ากับการดำเนินงานพื้นฐาน เพื่อให้มีระบบงานที่พร้อมรองรับพฤติกรรมผู้ฝากในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก 34 แห่ง และวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ฝาก 85,146,784 ล้านราย (ข้อมูล ณ เมษายน 2565) หรือคิดเป็น 98% ของผู้ฝากทั้งประเทศ

สำหรับมุมมองในระดับมหภาคที่ประเทศไทยได้นำเสนอตัวอย่างในการประชุมครั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยหนึ่งในโครงการที่โดดเด่นของภาครัฐคือ การพัฒนาแอปพลิเคชันกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ (G-Wallet) หรือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีวัตุประสงค์เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย รองรับพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในโลกยุคดิจิทัล

ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเงินฝาก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก โทร.1158 เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือ เฟสบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dpathailand

Back to top button