GGC มองไตรมาส 3 เจอ “สต๊อกลอส” หลังราคาน้ำมันปาล์มลด

GGC คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65ขาดทุนสต๊อก เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวลดลงเทียบกับไตรมาส 2/65


นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/65 น่าจะขาดทุนสต็อก (Stock Loss) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในไตรมาส 3/65 น่าจะปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 เนื่องจากเริ่มมีผลผลิตออกมาจากไตรมาส 2 และยังมีบางส่วนที่จะออกมาในไตรมาสนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ระดับราคาในประเทศต่ำลง

ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากต่างประเทศ จากก่อนหน้านี้อินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการ Domestic Market Obligation หรือ DMO แต่ในปัจจุบันอินโดนีเซียก็มีการเร่งการส่งออกน้ำมันปาล์มออกมาเพิ่มมากขึ้น กดดันราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวลง ส่วนราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (CPKO) มองว่าจะปรับตัวลงในไตรมาส 3/65 เป็นไปตาม CPO

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงการจัดเก็บปริมาณวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เพื่อการ Lean Inventory เพื่อควบคุมและปรับให้ Stock Loss ที่จะเกิดขึ้นมีผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้มองผลิตภัณฑ์ ไบโอดีเซล, แฟตตี้แอลกอฮอล์ และกลีเซอรีน ในไตรมาส 3 นี้ ไบโอดีเซล ยังมีปัจจัยบวกจากทางภาครัฐที่ยังคงให้มีการปรับลดสูตรผสมไบโอดีเซล B100 เป็น B5 ทำให้ดีมานด์ไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามไตรมาส 3/65 ถือเป็นช่วงมรสุม และมีปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ดีมานด์ไบโอดีเซลน่าจะปรับลดลงตามการบริโภคไบโอดีเซลทั้งประเทศที่ลดลงเช่นเดียวกัน

โดยตลาดแฟตตี้แอลกอฮอล์ จากราคาความผันผวนของ CPO จะทำให้ผู้บริโภคยังชะลอการซื้อ และผู้บริโภคตลาดใหญ่อย่างจีน ก็มีผลกระทบจากเรื่องของ Heat Wave ทำให้มีการควบคุมการผลิตภายในประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาพรวมปรับตัวลง ส่วนกลีเซอรีน ครึ่งปีแรกมีระดับราคาที่สูงมาก ขณะที่ไตรมาส 3/65 ก็มีแนวโน้มที่ดีมานด์จะปรับตัวลง จากปัจจัย Heat Wave ในจีน และอุตสาหกรรมปลายน้ำบางส่วน ที่ใช้ รีไฟน์กลีเซอรีน ก็มีดีมานด์ลดลงด้วย ทำให้มองว่าตลาดดังกล่าวน่าจะปรับตัวลง ทั้งในแง่ของดีมานด์ ราคาขาย และระดับกำไรที่จะเกิดขึ้น

“ภาพครึ่งปีหลังนี้ก็คงจะหลีกเลี่ยงการ Stock Loss ไม่ได้ จากระดับราคา CPO, CPKO ที่ลดลง แต่บริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทราบว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว จึงมีการเตรียมมาตรการในหลายมาตรการในการควบคุม Stock Loss ให้น้อยที่สุด ซึ่งหลักๆ คือ การควบคุมปริมาณสินค้าคงคลัง และดูภาวะตลาดก่อนดำเนินการซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด” นายไพโรจน์ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ Nakhonsawan Biocomplex Phase I เดิมกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้ แต่ประสบปัญหาเล็กน้อยเกี่ยวกับอุปกรณ์ ประกอบกับเข้าสู่ฤดูการหีบอ้อย ทำให้ต้องเลื่อน COD ไปเป็นไตรมาส 1/66 และปัจจุบันก็เตรียมความพร้อมก่อนการหีบปีหน้าด้วย ด้าน Nakhonsawan Biocomplex Phase II ปัจจุบันได้ทำสัญญากับบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐ ที่จะมาทำการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติกแล้ว โดยโครงการดังกล่าวก็มีความคืบหน้าตามแผน ซึ่งมีกำหนด COD ในไตรมาส 1/67

Back to top button