ฟันรอบสอง! ศาลสั่งคุก “เสี่ยวิชัย” 860 ปี ผิดฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ชดใช้ 8.9 พันลบ.
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งจำคุก "วิชัย กฤษดาธานนท์" 860 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร รวมทั้งพวกรวม 6 คน คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย สั่งชดใช้เงินรวมหมื่นล้านบาท ถือเป็นคดีที่สองที่ศาลสั่งจำคุก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหาร บมจ.กฤษดามหานคร (KMC) และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย รวมทั้งพวกรวม 6 คน ในความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2547 มาตรา 4, 5, 9, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
โดยอัยการระบุว่า ในระหว่างวันที่ 11 ก.ย.46 ถึงเดือน ธ.ค.47 จำเลยทั้ง 6 กับพวกอีกหลายคนได้บังอาจสมคบกันฟอกเงินโดยนำเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยมิชอบที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 10,400 ล้านบาท ที่ปล่อยให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และบริษัทในเครือ โดยจำเลยที่ 1,2 และ 3 นำบริษัทนิติบุคคล 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด บริษัท โบนัส บอร์น จำกัด และ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด มาใช้ในการโอนและรับเงิน แต่ไม่ได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน แต่กลับนำเงินที่ไปใช้ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และซื้อที่ดิน
นอกจากนี้จำเลยทั้ง 6 กับพวกยังได้ใช้บริษัทแกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัทแกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด มาทำการโอน รับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปยังพรรคพวก ด้วยการนำไปชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นแปลงสภาพ บมจ.กฤษดามหานคร
สำหรับการกระทำของจำเลยทั้ง 6 กับพวกเป็นการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนขณะหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐานหรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพราง ลักษณะที่แท้จริง การได้มาแหล่งที่ตั้งการจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการสมคบกันฟอกเงิน
ทั้งนี้ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยนายวิชัย จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 133 กรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 860 ปี, จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 28 กรรม รวมจำคุก 118 ปี, จำเลยที่ 3 กระทำความผิด 52 กรรม รวมจำคุก 416 ปี, จำเลยที่ 4 กระทำความผิด 5 กรรม รวมจำคุก 38 ปี, จำเลยที่ 5 กระทำความผิด 25 กรรม รวมจำคุก 235 ปี, จำเลยที่ 6 กระทำความผิด 39 กรรม รวมจำคุก 262 ปี
อย่างไรก็ตามความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 คนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และนับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ต่อกับโทษของจำเลยที่ 25 ที่ 26 และที่ 24 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีคำพิพากษาโทษจำคุกไว้คนละ 12 ปี
และ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดชอบชำระเงินแทนการริบทรัพย์สินเป็นเงิน 8,868,732,100 บาท, จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงดังกล่าวเป็นเงิน 372,915,500 บาท, จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในวงเงิน 5,805,488 บาท, จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในวงเงิน 2,713,195,805 บาท, จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในวงเงิน 548,987,420 บาท
ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 5-6 ร่วมกันรับผิดในวงเงินดังกล่าวอีก 973,528,030 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-4 ร่วมกันรับผิดในวงเงินดังกล่าวอีกเป็นเงิน 97,509,670 บาท
โดยให้จำเลยทั้ง 6 ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่พิพากษา หากไม่ชำระเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ต้องรับผิดชอบชำระดอกเบี้ยอัตรา 5% ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยทั้ง 6 ไม่เกินจำนวนเงินที่แต่ละคนยังค้างชำระ แต่ความรับผิดในส่วนดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามที่ พ.ร.ฎ.ออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตรา 7.5% ต่อปี